เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วยนายมงกรด อุ่นเรือน ผอ.ส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 ชลบุรี นายวาริส วิสารทานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการตรวจสอบสินค้าสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ร่วมกันตรวจสอบตู้สินค้าคอนเทเนอร์ 2 ตู้ ที่สำแดงเป็นเครื่องกลึงโลหะ 4 ชุด เตรียมส่งออกไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่เมื่อทำการเอกซเรย์ตู้ดังกล่าว พบว่าเป็นไม้พะยูง ไม้ประดู่ไม่มีดวงตาประทับไม้ รวม 772 ท่อน น้ำหนักรวม 56,000 กิโลกรัม มูลค่า 4.6 ล้านบาท จึงได้ทำการตรวจยึดสินค้าดังกล่าว

นายยุทธนา เปิดเผยว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ให้เข้มงวดกวดขันในการสืบสวนและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จากการประสานความร่วมมือ พบข้อมูลที่เชื่อได้ว่าอาจมีการพยายามหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัดเพื่อส่งออกไม้ สำนักงานศุลกากรท่าเรือฉบัง ร่วมกับสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 ชลบุรี และหน่วยงานป้องกันรักษาป่าชลบุรี 1 บางละมุง ด่านป่าไม้แหลมฉบัง และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันตรวจสอบตู้คอนเทเนอร์ 2 ตู้เตรียมส่งออก ณ ท่าเรือฉบังปลายทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ตรวจพบสินค้าที่สำแดงเป็นเครื่องกลึงโลหะ 4 ชุด แต่เป็นไม้พะยูงและไม้ประดู่รวม 772 ท่อน น้ำหนักรวม 56,000 กิโลกรัม มูลค่า 4.6 ล้านบาท

จึงได้ทำการตรวจยึดสินค้าดังกล่าว โดยไม้พะยูงจะเป็นสินค้าต้องห้ามในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และไม้ประดู่จะเป็นสินค้าต้องจำกัด ซึ่งในขณะปฏิบัติพิธีการศุลกากร ผู้ส่งออกไม่มีหนังสือรับรองไม้มาแสดงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแต่อย่างใด ซึ่งสินค้าชุดนี้ สำแดงเป็นเครื่องกลึง 4 ชุด มีน้ำหนักสุทธิ 56,000 กิโลกรัม สำหรับมูลค่าไม้พะยูงและไม้ประดู่ที่ลักลอบส่งออกในครั้งนี้ มีมูลค่าบาท 4.6 ล้านบาท แต่ถ้าสามารถส่งออกไปได้ จะมีมูลค่าสูงขึ้นไปอีกประมาณ 10 เท่าตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลักลอบไม้พะยูงส่งออกนอกราชอาณาจักรนั้น มีการกระทำกันมาอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี และมีการจับกุมโดยตลอด ซึ่งขณะมีตู้สินค้าคอนเทเนอร์ที่มีไม้พะยูงตกค้างอยู่ในท่าเรือแหลมฉบังกว่า 200 ตู้ ยังไม่สามารถนำออกหรือขายทอดตลาดได้ เพราะติดระเบียบข้อบังคับของหลายหน่วยงาน