กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ชี้แจงที่เคยเป็นนายประกันให้ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน นักกิจกรรมทางการเมือง ไม่ได้เป็นการสนับสนุนพฤติกรรมของเยาวชน กรณี “ขบวนเสด็จ” เป็นเรื่องสิทธิการประกันตัว ทุกคนมีสิทธิที่จะถูกสันนิษฐานว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน ต้องแยกเป็นกรณี

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยเรื่องประกันตัวของ น.ส.ทานตะวัน  หรือตะวัน  สืบเนื่องจากช่วงปีที่แล้วที่ตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม สองนักกิจกรรมอิสระได้ไปขอถอนประกันตัวเอง ส่งตัวเองเข้าไปในเรือนจำและขอให้ปล่อยนักโทษทางการเมืองโดยทั้งคู่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 จากการจัดกิจกรรมสอบถามความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับขบวนเสด็จกับกลุ่ม “ทะลุวัง” บริเวณหน้าห้างสยามพารากอน เมื่อ 8 ก.พ. 2565 ต่อมามีการอดอาหารและป่วยหนัก จนต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์

โดยเรื่องดังกล่าวเป็นเหตุให้อาศัยอํานาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าเห็นว่าจิตใจร่างกายของคนป่วยที่อยู่ในภาวะอันตราย ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ หากศาลหรือผู้ควบคุมหรือผู้รักษาพยาบาลเห็นว่าผู้ต้องขังทางอาญา จะมีอันตรายถึงแก่ชีวิต ก็สามารถไปใช้สิทธิขอให้ศาลพิจารณาแล้วถอนหมายขังได้ ศาลก็อนุญาต จึงไม่ได้อยู่อำนาจการดูแลของศาล ดังนั้นการเป็นนายประกันของนายพิธาจึงหมดไป หลังจากนั้นศาลก็ไม่ได้ออกหมายขังตะวันอีก จึงถือว่าเป็นการปล่อยตัวชั่วคราวตลอดไปไม่ต้องมีนายประกัน ตนคิดว่าการที่นายพิธาออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าว เป็นเพราะว่ายังมีคนเข้าใจผิดและไม่ทราบว่า นายพิธาไม่ได้เป็นนายประกันของตะวันนานแล้ว แต่ตอนนี้มาดำเนินการคืนหลักประกันอะไรหมดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องโฆษณาหรือบอกใครต่อใคร

ส่วนที่มีข่าวว่าทางตำรวจจะไปขอถอนประกัน ตะวัน ตนจำไม่ได้ว่าคดีใดแน่ชัดแต่เกี่ยวกับคดี 112 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ ตะวัน ได้รับการปล่อยชั่วคราวจากหลักทรัพย์ของกลุ่มราษฎร ไม่มีนายประกัน