“ในวันขึ้น 9 คํ่า เดือน 6 เหนือ เดือน 4 ใต้ ของทุกปี พุทธศาสนิกชนจากทุกสารทิศจะเดินทางมานมัสการพระธาตุช่อแฮเป็นจำนวนมาก ด้วยความเชื่อที่ว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวพระบรมสารีริกธาตุ จะแสดงปาฏิหาริย์แผ่บารมีที่เป็นสิริมงคลแก่ผู้มาสักการะ จากนั้นจึงปฏิบัติสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮเมืองแพร่แห่ตุงหลวง และเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานเป็นประจำทุกปี” พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง กล่าว

พระธาตุช่อแฮ องค์พระธาตุช่อแฮเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ บรรจุพระบรมเกศาธาตุและเป็นโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองแพร่ มีอายุมากกว่าพันปี เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล

สำหรับงานประเพณีไหว้พระธาตุ ช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-24 มีนาคม 2567 ณ วัดพระธาตุช่อแฮพระอารามหลวง อ.เมือง จ.แพร่ ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ กิจกรรมการทำบุญตักบาตร การปฏิบัติธรรม การแสดงวิถีชุมชน วิถีวัฒนธรรม การแข่งขันตีกลองปูจา การจำหน่ายสินค้าโอทอป และขบวนแห่เครื่องสักการะเพื่อบูชาองค์พระธาตุอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา ขบวนช้างเจ้าหลวงเมืองแพร่ ขบวนแห่ตุงหลวง และขบวนเครื่องสักการะจากทั้ง 8 อำเภอในจังหวัดแพร่

ไฮไลต์อยู่ในวันที่ 18 มีนาคม 2567 เวลา 15.00 น. ประทับใจกับขบวนแห่เครื่องสักการะเพื่อบูชาองค์พระธาตุอย่างยิ่งใหญ่ ชมขบวนช้างเจ้าหลวงเมืองแพร่ ขบวนแห่ตุงหลวง ขบวนเครื่องสักการะจากทั้ง 8 อำเภอในจังหวัดแพร่ ขบวนแห่ผ้าแพรห่มองค์พระธาตุประจำวันเกิด ขบวนฟ้อนปูจาพระธาตุช่อแฮโดยแม่หญิงเมืองแพร่ และการจัดแสดงแสงสีเสียง “ย้อนรอยครูบาและมหามูลศรัทธา บูรณะพระธาตุเจ้าช่อแฮ”

นายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานแพร่-อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ปีนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดแสดงนิทรรศการเรื่องตุง กิจกรรม DIY ตุง และสร้างสรรค์ Landmark ถ่ายรูปตุงภาคเหนือ ด้วยนวัตกรรมผสมผสานเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความสวยงามทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์และเกิดการเรียนรู้ตามคอนเซปต์ “เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ”

มาเที่ยวแพร่ในช่วงงานบุญใหญ่ต้องห้ามพลาดเมนูมงคล “ลาบแพร่” อาหารภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยความเชื่อของคนเหนือที่คำว่า “ลาบ” พ้องเสียงกับคำว่า “ลาภ” และเชื่อว่าเป็นเมนูมงคลที่ทานแล้วจะโชคดี มีโชคลาภ ถือว่าได้กินอาหารถิ่นมงคล มักจะทำกินกันเฉพาะโอกาสพิเศษหรืองานมงคลในเทศกาลต่าง ๆ เนื่องจากมีวิธีทำที่ซับซ้อนยุ่งยากและใช้เวลาทำนาน จึงเปรียบดังชีวิตและจิตวิญญาณของคนเหนือ

ร้านลาบแพร่มีอยู่มาก กระจายทั่วทั้ง 8 อำเภอ เนื่องจากเป็นเมนูอร่อยยอดนิยมประจำท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นแบบปรุงสุกหรือดิบ นำมาคลุกเคล้ากับนํ้าพริกลาบ ชูความเผ็ดจากพริกแห้งและกลิ่นรสของ “มะแขว่น” เป็นเมนูที่อร่อย หาทานง่าย ร้านแนะนำ ได้แก่ ร้านหนานเนียงลาบขม, ร้านลาบป้ามา, ร้านลาบป้าดำ, ร้านลาบคำสมร, ร้านครัวจิ้นสด, ร้านจ่าเดชลาบขมเมืองแพร่ เป็นต้น

ได้บุญมาเต็มแถมอิ่มท้องกับเมนูอาหารถิ่นแล้ว ไปสัมผัสวิถีคนแพร่ด้วยการลงมือรังสรรค์งานศิลปะบนผืนผ้าที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกด้วยฝีมือของคุณเองกับเส้นทาง “เปื้อนยิ้มแป้ : 21 Happiness Workshop & Activity” เครือข่ายแหล่งท่องเที่ยวทำมือและแหล่งท่องเที่ยวสร้างสรรค์ในจังหวัดแพร่

นายธัชพงศ์ พัฒนสารินทร์ ประธานกลุ่มเปื้อนยิ้มแป้ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบงานคราฟต์ ไม่ใช่แค่ซื้อของ แต่อยากมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาเอง เพราะประสบการณ์จะช่วยเพิ่มความสุขและมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงสร้างคุณค่าทางจิตใจให้คนที่ได้มาสัมผัสครั้งแรกกลับมาสร้างสรรค์ผลงานซํ้าอีก

คำว่า “เปื้อนยิ้มแป้” มาจากคำว่า “เปื้อน” ที่แปลว่า “เลอะ” “เปื้อนยิ้ม” คือความสุขที่ได้ลงมือทำปนเปื้อนไปด้วยรอยยิ้ม อีกนัยหนึ่ง
คำว่า “เปื้อน” ในความหมายภาษาเหนือ คือ “เพื่อน” เมื่อรวมกัน คำว่า “เปื้อนยิ้มแป้” จึงหมายความว่า ชวนเพื่อน ๆ มาเปื้อนประสบการณ์ด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขในแหล่ง Workshop จังหวัดแพร่ไปด้วยกัน

“สัญลักษณ์ของกลุ่มคือ รูปฝ่ามือมีรอยยิ้ม มือสื่อถึงการสัมผัส การทำกิจกรรมต้องสัมผัสกับมือ มือยังสื่อถึงความเป็นเพื่อน การประสานมิตร นิ้วทั้ง 5 สื่อถึงสัมผัสทั้ง 5 รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ซึ่งจะทำให้เข้าถึงความรู้สึกมากกว่าแค่ดูหรือจับต้องชิ้นงานเพียงอย่างเดียว”

สมาชิกในเส้นทางเปื้อนยิ้มแป้ : 21 Happiness Workshop & Activity ได้แก่ ภา, โก้ในสวน, คำมีสตูดิโอ, นิตาคาเฟ่, ฮักฮ่อม
สตูดิโอ, โรงเรียนเวทย์มนต์แตนส์วาร์ปซ์, บ้านมัดใจ, เดอะแพร่ฟาร์ม, มีดช่างเอก, กมลอินดิโก้, นัชชาราล์, ต้นคราม, ศูนย์เรียนรู้หม้อห้อมป้าเหงี่ยม, สืบสานศิลป์กุ๊บลอน, บ้านเลข ๘, กานต์บายไททอ, ช่อแฮคาเฟ่, บ้านคำเต็ม, ปิกนิกฟาร์ม, คำปันเกยฟาร์มสเตย์ และ
ระกา จอ กุน ระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์-31 มีนาคม 2567 ททท.สนับสนุนโปรโมชันและสิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page : เปื้อนยิ้มแป้

ลงมาที่อุตรดิตถ์ กับ “งานมหกรรมกาแฟจังหวัดอุตรดิตถ์ Uttaradit Coffee Craft 2024” จัดขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างยิ่งใหญ่โดยเนรมิตพื้นที่ใจกลางสวนสาธารณะเมืองอุตรดิตถ์เอาใจคอกาแฟ พบกับการรวมตัวของร้านกาแฟในอุตรดิตถ์ และร้านยอดนิยมพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 60 ร้าน สนุกกับเวิร์กช็อปจากเหล่าเทพทางด้านการดริปกาแฟ การแข่งขัน cup taster ชิงรางวัลใหญ่จากกระทรวงการคั่ว ช้อปอุปกรณ์ วัตถุดิบ และเครื่องชงกาแฟ พบปะศิลปินคนรักงานคราฟต์ อิ่มอร่อยกับอาหาร เบเกอรี่จากร้านยอดนิยมในจังหวัด และช้อปของฝากขึ้นชื่อจากวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดอุตรดิตถ์ ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 10.00–20.00 น.

นายพิษณุ ลาภชัยเจริญกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า งานมหกรรมกาแฟจังหวัดอุตรดิตถ์ Uttaradit Coffee Craft 2024 จัดขึ้นภายใต้แนวคิดการสร้างแรงบันดาลใจผ่านเรื่องราวของกาแฟแก้วโปรดและศิลปะแห่งกาแฟ เพื่อเติมประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ให้มีความหลากหลายและแปลกใหม่ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

มาเที่ยวอุตรดิตถ์ช่วงหน้าร้อนแบบนี้ นอกจากเที่ยวงานกาแฟแล้ว อีกสถานที่หนึ่งที่ต้องแวะมาเที่ยว คือ คาเฟ่ในสวนผลไม้ ช่วงนี้มะยงชิดกำลังออกผลผลิต นักท่องเที่ยวจะได้สนุกกับกิจกรรมเก็บมะยงชิดจากต้น ลิ้มลองเมนูเบเกอรี่และสมูตตี้คลายร้อน แนะนำ คาเฟ่ในสวนผลไม้ ได้แก่ สวนป้าเรียน สวนบ้านบนดอย สวนเฮือนลับแล หลงสวน ณ ลับแล เป็นต้น

“อุตรดิตถ์เป็นเมืองมหัศจรรย์ผลไม้และเสน่ห์แห่งธรรมชาติ CITY OF FRUIT มีความหลากหลายของผลไม้ตามฤดูกาลหาทานได้ตลอดปี เช่น ลางสาด, ลองกอง, ทุเรียน (GI), สับปะรด (GI), เม็ดมะม่วงหิมพานต์, กล้วยนํ้าว้า, มังคุด,  เงาะ, กาแฟ, มะขามหวาน, มะยงชิด และมะไฟ ด้วยลักษณะทางกายภาพของ จ.อุตรดิตถ์ พื้นที่ปลูกผลไม้ส่วนใหญ่อยู่บนที่สูง เป็นป่าภูเขา มีแร่ธาตุและภูมิอากาศที่ส่งผลต่อคุณภาพและรสชาติของผลไม้เฉพาะตัว จนผลไม้จากอุตรดิตถ์ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “ผลไม้เทวดาเลี้ยง“ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานแพร่-อุตรดิตถ์ อธิบาย

ทั้งนี้ ททท.ได้ประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชูแคมเปญ “Amazing อุตรดิตถ์เที่ยวได้ทั้งปี 365 วัน” เสนอขาย
เรื่องราว GASTRONOMY ส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวเมืองรอง กระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการสวนผลไม้และชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อเนื่องด้วย.

อธิชา ชื่นใจ