เหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารอพาร์ตเมนต์เซนต์นิโคลัส เพลซ ในย่านฮาร์เล็ม นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา สร้างความระทึกขวัญแก่ประชาชนจากภาพผู้พักอาศัยที่ต้องหนีตายออกจากตึก บางคนกระโดดออกทางหน้าต่าง บางคนที่ติดอยู่บนดาดฟ้าอาคารซึ่งมีความสูงถึง 6 ชั้น ก็ต้องอาศัยเชือกโรยตัวลงมาพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิง 

รายงานจากหน่วยดับเพลิงนิวยอร์กระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือผู้พักอาศัยในอาคารออกมา 18 คน โดยมี 12 คน ที่มีอาการสาหัสและได้รับการนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน ซึ่งต่อมา หนึ่งในจำนวนนี้ก็เสียชีวิต ส่วนอีก 4 คน ยังคงอยู่ในห้องผู้ป่วยวิกฤติ 

สำหรับผู้ตายคือนายฟาซิล ข่าน เป็นนักข่าวชาวอินเดียวัย 27 ปี อดีตนักข่าวท้องถิ่นของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นในอินเดีย เพิ่งย้ายมานิวยอร์ก เพื่อศึกษาต่อและทำงาน ขณะเสียชีวิต เขาทำงานให้สำนักข่าว Hechinger Report ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในความดูแลของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

หลังจากเพลิงสงบแล้ว ได้มีการอพยพผู้พักอาศัยทั้งหมดออกจากอาคาร โดยมีองค์การกาชาดดูแลหาที่พักชั่วคราวที่โรงเรียนในละแวกนั้น ให้ผู้พักอาศัยหลายสิบคนที่ยังไม่มีที่อยู่

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทีมสืบสวนและเจ้าหน้าที่จากหน่วยดับเพลิงนิวยอร์ก ได้กลับเข้าไปตรวจสอบอาคารเพื่อประเมินความเสียหายและสืบหาต้นเพลิงในครั้งนี้ 

ผลจากการสืบสวนสรุปได้ว่า ต้นเพลิงมาจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของจักรยานไฟฟ้าในห้องพักบนชั้นที่ 3 ของอาคาร แต่ไม่มีการระบุรายละเอียดว่าเกิดเพลิงไหม้ได้อย่างไร

ข้อมูลของหน่วยดับเพลิงนิวยอร์กระบุว่า ในปี 2566 แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เป็นต้นเพลิงของเหตุเพลิงไหม้ในนครนิวยอร์ก 267 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 18 ราย และบาดเจ็บ 150 ราย ส่วนในปี 2567 นี้ มีเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่มีสาเหตุมาจากแบตเตอรี่ประเภทดังกล่าว เกิดขึ้นแล้ว 24 ราย 

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หน่วยดับเพลิงนิวยอร์กออกแถลงการณ์ระบุว่า แบตเตอรี่ลิเทียมไออน คือสาเหตุหลักและสาเหตุอันดับแรกของการเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตในนิวยอร์กขณะนี้

เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว สภาเมืองนิวยอร์กเริ่มออกระเบียบบังคับร้านค้าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับจักรยานไฟฟ้า, สกู๊ตเตอร์และอื่น ๆ ให้จำหน่ายเฉพาะสินค้าที่มีใบรับรองคุณภาพและมาตรฐานการผลิตเท่านั้น 

ที่มาและเครดิตภาพ : cbsnews.com, pix11.com