“ภารกิจลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 วันนี้ มีหัวใจสำคัญคือการสร้างโอกาส เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต พร้อมยกระดับการท่องเที่ยว ผมเชื่อว่า ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ยังมีแหล่งท่องเที่ยว ที่เป็น Hidden Gems อีกมาก”

“รัฐบาลตั้งใจที่จะพัฒนาให้ 3 จังหวัด เป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวรวม 1.68 ล้านคนต่อปี 15% เป็นชาวต่างชาติ หากเราเปิดวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศ จัดงานอีเวนต์ตลอดปี รวมถึงกิจกรรมกีฬา ส่งเสริม Soft Power อาหารฮาลาล ปลานิลสายน้ำไหล ผ้าบาติก พร้อมตั้งศูนย์ One Stop Service ในด่านศุลกากรเบตง เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน และยกระดับสนามบินครับ ก็จะสามารถผลักดันให้พี่น้องมีรายได้มากขึ้น” นายกฯ เศรษฐา ย้ำ

ประเด็นที่น่าสนใจคือการลงพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งนี้ นายกฯ เศรษฐา ไม่แตะปัญหา “ไฟใต้” ที่ยังคงคุกรุ่นมาร่วม 20 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุคนร้ายปล้นปืน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) จ.นราธิวาส เมื่อช่วงกลางดึก วันที่ 4 ม.ค. 2547 

ข้อมูลเผยแพร่ทางวิชาการ รัฐสภาไทย เปิดเผยสถิติสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547-2566 เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจำนวน 2,296 เหตุการณ์, ผู้เสียชีวิต 7,547 ราย, ผู้บาดเจ็บ 14,028 ราย และที่สำคัญ รัฐบาลใช้งบประมาณเพื่อหวังดับไฟใต้ ไปแล้วมากกว่า 5 แสนล้านบาท!

ทบทวนความจำ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเศรษฐา แต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุข โดยมีฉัตรชัย บางชวด เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ก่อนนำไปสู่การพูดคุยกับแกนนำขบวนการ BRN ระหว่างวันที่ 6-7 ก.พ. 2567 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีประเทศมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวก

ทว่าคล้อยหลังการพูดคุยสันติสุขไม่ถึง 1 สัปดาห์ กลับเกิดเหตุร้ายในพื้นที่แบบถี่ยิบ!

วันที่ 12 ก.พ. คนร้ายวางระเบิดรถหุ้มเกราะ พื้นที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ส่งผล อส. เสียชีวิต 2 นาย และเจ็บ 3 นาย

วันที่ 19 ก.พ. คนร้ายไม่น้อยกว่า 6 คน ยิงถล่มใส่ อส. ชุดคุ้มครองครู พื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ส่งผล อส. เสียชีวิต 2 นาย และยึดอาวุธปืน อส. 3 กระบอก หลบหนีไปได้

วันที่ 20 ก.พ. คนร้ายดก่อเหตุถอดหมุดรางรถไฟ 108 ตัว พื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เพื่อเตรียมก่อวินาศกรรมขบวนรถไฟสายใต้ แต่ เจ้าหน้าที่โชคดีตรวจพบก่อน

ฝ่ายความมั่นคง ประเมินในช่วงเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม ระหว่างวันที่ 10 มี.ค.-9 เม.ย. ขบวนการบีอาร์เอ็น จะใช้จังหวะนี้ก่อเหตุร้ายอย่างต่อเนื่อง

เหตุการณ์ทั้งหมดทั้งมวล มันสะท้อนการแก้ปัญหาไฟใต้ ของรัฐบาลหลายชุด เหมือนพายเรือในอ่าง เกาไม่ถูกที่คัน 

ผู้มีอำนาจต้องไม่ลืม ไฟใต้ได้เผาผลาญชีวิต เลือดเนื้อและคราบน้ำตาของทุกฝ่าย ทั้ง ทหาร ตำรวจ ชาวบ้าน และกลุ่มผู้เห็นต่าง นำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากยิ่งขึ้น

นาทีนี้บอกได้คำเดียว ภารกิจดับไฟใต้ยังมืดมิด ไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์.