ปี 2567 หรือ ค.ศ. 2024 คือปีอธิกสุรทิน ที่มีจำนวนวันทั้งหมด 366 วัน และเดือนกุมภาพันธ์ จะมีจำนวนวันทั้งหมด 29 วัน ทำให้วันที่ 29 ก.พ. กลายเป็นวันพิเศษ และคนที่เกิดในวันนี้ ก็มักจะโดนล้อว่าต้องรอถึง 4 ปี กว่าจะได้ฉลองวันเกิดสักครั้งหนึ่ง

แต่การใส่วันที่ 29 ลงมาในเดือนกุมภาพันธ์ทุก 4 ปีนั้น ไม่ใช่การกระทำที่เป็นแค่เรื่องนึกสนุก หรือเห็นอกเห็นใจเดือนที่จำนวนวันน้อยที่สุดในกลุ่ม หากเป็นวิธีการที่ช่วยให้ชีวิตของเรา ดำเนินมาได้อย่างปกติมาหลายพันปีแล้ว  

คริสโตเฟอร์ ซิโรลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากแผนกคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นมิสซิสซิปปี อธิบายว่า สาเหตุที่ต้องเติมวันพิเศษเข้าไป 1 วันทุก ๆ 4 ปีนี้ เป็นเพราะระยะเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 ครั้งนั้น ไม่สามารถนับเป็นวันที่ครบสมบูรณ์ได้ ตามระบบการนับเวลาแบบที่เราใช้กันอยู่

หากนับตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แล้ว ระยะเวลาของวงโคจรของโลก 1 รอบคือ 365.2422 วัน ซึ่งแปลว่า เราจำเป็นจะต้องมีการตัดออกและทดเวลา เพื่อปรับเวลาในระบบของเรา ให้เข้ากับเวลาที่แท้จริงของวงโคจรของโลก

ถ้าจะนับแบบง่าย ๆ เวลาการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก 1 รอบ จะเท่ากับ 365 วัน 6 ชม. นักวิทยาศาสตร์จึงต้อง “เก็บสะสม” ส่วนเกิน 6 ชม. นี้ ทบจนได้ครับ 24 ชม. หรือ 1 วัน แล้วเพิ่มเข้าไปในปฏิทินทุก 4 ปี

ถ้าเราไม่มีการปัดเศษและทดเวลาของวงโคจรของโลก ภายในเวลาเพียง 40 ปี ช่วงเวลาหรือกำหนดของฤดูกาลต่าง ๆ บนโลกจะผิดเพี้ยน และอีกไม่เกิน 700 ปี คนที่อยู่ในซีกโลกครึ่งบน ด้านขั้วโลกเหนือของโลก จะได้ฉลองเทศกาลคริสต์มาสในหน้าร้อน และเดือนธันวาคม จะกลายเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนจัด

หลังจากนั้นอีก 700 ปี วันเวลาของฤดูกาลต่าง ๆ จึงจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกครั้ง

เจ้าของไอเดียการเติมวันเข้าไปทุก 4 ปีนี้ คือบุคคลที่มีชื่อเสียงในหน้าประวัติศาสตร์ที่โลกรู้จักดี ซิโรลา อธิบายว่า ผู้นำจอมเผด็จการแห่งอาณาจักรโรมันในอดีต “จูเลียส ซีซาร์” คือผู้ที่กำหนดให้มีปีอธิกสุรทินในปฏิทิน โดยปฏิทินที่เขามีส่วนร่วมนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ปฏิทินจูเลียน” 

อย่างไรก็ตาม รัฐบุรุษซีซาร์ไม่ได้เป็นผู้คำนวณวันเวลาสำหรับการสร้างปฏิทินขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่ใช้วิธีจ้างผู้เชี่ยวชาญให้สร้างรูปแบบปฏิทินขึ้น เพื่อนำมาใช้งานที่ดีกว่าปฏิทินโรมันแบบเดิมซึ่งมีถึง 13 เดือน และยังมีการกำหนดวันและเดือนที่ไม่แน่นอนในแต่ละปี แล้วแต่การพิจารณาของกลุ่มปุโรหิตสูงสุด จนกระทั่งทำให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน

ต่อมา ปฏิทินจูเลียน ก็ถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างปฏิทิน “เกรกอเรียน” หรือปฏิทินสากลที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนี้

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES