สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ว่า หลายพื้นที่ของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เผชิญกับความแห้งแล้ง และเกษตรกรชาวเวียดนาม ต่างประสบความลำบากในการขนส่งพืชผล เนื่องจากคลองในภูมิภาค มีระดับน้ำต่ำ

นักอุตุนิยมวิทยาของเวียดนาม กล่าวว่า ช่วงอากาศร้อนรุนแรงในประเทศ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 38 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นระดับสูงอย่าง “ผิดปกติ” สำหรับเดือน ก.พ. ในพื้นที่ตอนใต้ของเวียดนาม เนื่องจากประเทศมักจะมีอากาศร้อนสุดอยู่ที่ 39 องศาเซลเซียส ในเดือน เม.ย. หรือเดือน พ.ค.

ด้านนายเล ดิ่ญ เกวียต หัวหน้านักพยากรณ์อากาศจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยา และอุทกวิทยาภาคใต้ กล่าวว่า ปรากฏการณ์สภาพอากาศ “เอลนีโญ” และผลกระทบทั่วไปของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มีส่วนทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งที่ยาวนานผิดปกติ ซึ่งยังคงดำเนินอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ระบุว่า ปี 2566 เป็นปีที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก พร้อมกับเตือนเมื่อเดือนที่แล้วว่า สภาพอากาศในปีนี้อาจร้อนยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากรูปแบบสภาพอากาศเอลนีโญ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มักทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งในกรณีล่าสุด อากาศร้อนจะคงอยู่ต่อไป จนถึงช่วงกลางปี 2567

อนึ่ง หน่วยงานท้องถิ่นของเวียดนาม กล่าวว่า การผลิตทางการเกษตรในประเทศ ต้องอาศัยน้ำฝนโดยสิ้นเชิง ซึ่งปัญหาการขาดแคลนน้ำฝนในปีนี้ บีบบังคับให้เกษตรกรสูบน้ำจากทางน้ำ เข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมของตนเอง ทว่าความแตกต่างของระดับความสูง ระหว่างพื้นผิวถนนริมแม่น้ำ กับระดับน้ำด้านล่าง กลับทำให้เกิดการทรุดตัว และดินถล่มในเวลาต่อมา.

เครดิตภาพ : AFP