สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ว่า “โอเปกพลัส” ซึ่งเป็นการรวมตัวระหว่าง กลุ่มประเทศนอกองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปก) จำนวน 10 ประเทศ กับสมาชิกโอเปกดั้งเดิม 12 ประเทศ มีมติร่วมกัน ในการประชุม ที่กรุงเวียนนา ขยายระยะเวลา “ลดการผลิตโดยสมัครใจ” รวมกัน 2.2 ล้านบาร์เรล ที่ประกาศเมื่อเดือน มิ.ย. 2566 ออกไปจนถึงช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ “เป็นอย่างน้อย” เพื่อสนับสนุนการสร้างเสถียรภาพตลาด


ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียจะลดเพดานการผลิตเพิ่มอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และรัสเซียจะลดกำลังการผลิตเพิ่มอีกวันละ 470,000 บาร์เรล ในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ โดยการลดโควตาของทั้งสองประเทศ เพิ่มเติมจากการประกาศลดเพดานการผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน ที่เคยประกาศเมื่อเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว และจะมีผลจนถึงสิ้นปี 2567


ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) คูเวต อิรัก และคาซัคสถาน ประกาศการลดกำลังการผลิตของตัวเองลดหลั่นกันไปตามสัดส่วนเช่นกัน


เดิมทีโอเปกพลัสมีสมาชิก 23 ประเทศ แต่แองโกลาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโอเปก ลาออกจากการเป็นสมาชิก เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว เนื่องจากไม่พอใจมติของโอเปก ที่ต้องการให้สมาชิกลดเพดานการผลิตลงอีก เพื่อกระตุ้นราคาน้ำมันในตลาดโลกให้กลับมาสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของแองโกลาในระยะยาว.

เครดิตภาพ : AFP