วันที่ 4 มี.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า หนี้สินครัวเรือนขยายตัวชะลอลง จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย ในไตรมาสสาม ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่ารวม 16.20 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.3% ชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในของประเทศ (GDP) อยู่ที่ 90.9% ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ ครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล โดยในไตรมาสสามปี 2566 สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนสูงสุดของหนี้สินครัวเรือน ขยายตัว 4.6% ชะลอลงเล็กน้อยจาก 4.9% ในไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับสินเชื่อเพื่อยานยนต์ ที่ขยายตัว 0.2% ลดลงจาก 1.0% ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากสถาบันการเงินยังคงกำหนดเงื่อนไขสัญญาการกู้ยืมที่เข้มงวด ตามคุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มด้อยลง

ด้านสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นขยายตัวชะลอลงจาก 5.6% ของไตรมาสที่ผ่านมาเป็น 5.4% จากการชะลอตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิต ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 3.5% จาก 3.2% ของไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการสภาพคล่องของครัวเรือนบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็นต้องใช้เงิน หรือนำไปชำระหนี้สินหรือรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย

คุณภาพสินเชื่อด้อยลงทุกประเภทสินเชื่อ จากข้อมูลธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาสสาม ปี 2566 พบว่ายอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท ขยายตัว 7.9% จาก 2.7% ในไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่ 2.79% เพิ่มขึ้นจาก 2.71% ในไตรมาสก่อน อีกทั้งครัวเรือนบางกลุ่มยังเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่อง

เมื่อพิจารณาตามประเภทสินเชื่อ พบว่า คุณภาพสินเชื่อยังด้อยลงทุกประเภท โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบัตรเครดิต มีสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม 3.24% และ 3.34% ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับสินเชื่อยานยนต์ที่สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 2.05% ของไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 2.10%

นอกจากนี้ หากพิจารณาหนี้ที่มีการค้างชำระ 1-3 เดือน (SMLs) พบว่า ภาพรวมสัดส่วน SMLs ต่อสินเชื่อรวมทรงตัวอยู่ที่ 6.7% แต่หนี้ SMLs ของสินเชื่อยานยนต์ยังคงอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์คุณภาพหนี้ยานยนต์ข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลสถิติการยึดรถยนต์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 25,000-30,000 คันต่อเดือนจากปี 2565 ที่อยู่ที่ประมาณ 20,000 คันต่อเดือน

สำหรับ ประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่

1.การติดตามผลของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดย Responsible Lending ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 มีมาตรการสำคัญประกอบไปด้วย 1) การช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 2) ลูกหนี้เรื้อรังสามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น

3) การคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ อาทิ การควบคุมเนื้อหาโฆษณาให้ถูกต้องชัดเจน และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร การเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการใช้เงินของลูกหนี้ รวมถึงการให้ข้อมูลและคำเตือนสำคัญที่ลูกหนี้ควรรู้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาทั้งกลุ่มลูกหนี้เดิมและลูกหนี้ใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการเข้ารับความช่วยเหลือของกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง

2.การเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น โดยภาพรวมสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับขยายตัวสูงถึง 15.6% ขยายตัวในระดับสูงตั้งแต่ไตรมาสสอง ปี 2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ซึ่งในไตรมาสสาม ปี 2566 ขยายตัวสูงถึง 40.2% สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่อนุมัติเร็วและง่าย แต่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น และมีแนวโน้มจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการกู้ยืมเพื่อเติมสภาพคล่อง ขณะเดียวกัน หนี้เสียของสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดยมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมสูงถึง 4.0% เพิ่มขึ้นจากปลายปี 2564 ที่มีสัดส่วนเพียง 2.4%

3.การติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของกระทรวงมหาดไทย จำนวนกว่า 1.43 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 10,261 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567) ซึ่งต้องติดตามความสามารถในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ หรือเปลี่ยนหนี้นอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบ ซึ่งอาจต้องผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอุปสรรคการให้กู้ยืมกับกลุ่มลูกหนี้นอกระบบที่เป็นกลุ่มที่มีเครดิตไม่ดีนัก

รวมทั้งต้องมีการติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประเด็นหนึ่งที่อาจต้องพิจารณาร่วมกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ คือ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน

ซึ่งรายงานการสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทย ในปี 2565 ของธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า กลุ่มดังกล่าวยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ โดยมีสาเหตุมาจากฐานะทางการเงิน หรือรายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีความรู้ความเข้าใจ และผลิตภัณฑ์ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจก่อหนี้นอกระบบได้ในอนาคต