สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ว่า แม่น้ำโขง หนึ่งในแม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก เป็นที่อยู่อาศัยของสายพันธุ์ปลาซึ่งเป็นที่รู้จักประมาณ 1,148 สายพันธุ์ และมีผู้คนหลายล้านคนพึ่งพาแหล่งน้ำแห่งนี้เพื่อสร้างรายได้

แต่นักสิ่งแวดล้อมหลายคนกล่าวว่า แม่น้ำโขงเผชิญกับภัยคุกคามมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การสร้างเขื่อน, การขุดทราย, การประมงที่มีการจัดการไม่ดี, การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย และการปรากฏตัวของสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

รายงานระบุว่า สายพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงร้อยละ 19 ถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงข้างต้น พร้อมกับเน้นย้ำว่า ประชากรปลาที่ลดลง จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้าน ที่พึ่งพาแม่น้ำสายนี้

“การลดลงอย่างน่าตกใจของจำนวนปลาในแม่น้ำโขง คือสัญญาณเตือนเร่งด่วนให้มีการดำเนินการ” นางลัน เมอร์คาโด ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าว “เราต้องดำเนินการทันที เพื่อพลิกกลับแนวโน้มที่เป็นหายนะเช่นนี้ เนื่องจากชุมชนและประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง สามารถเสียปลาไปได้”

นอกจากนี้ รายงานจากกลุ่มระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ 25 กลุ่ม ซึ่งตรวจสอบผลกระทบในส่วนต่าง ๆ ของแม่น้ำโขง พบว่า ประชากรปลาในแม่น้ำ ลดลง 88% ระหว่างปี 2546-2562 และมีปลา 74 สายพันธุ์ ที่ได้รับการประเมินว่า “เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” ในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น)

อนึ่ง รายงานเรียกร้องให้ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ร่วมโครงการ “เฟรชวอเตอร์ ชาเลนจ์” ของดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ ตลอดจนแนะนำให้มีการเพิ่มการไหลเวียนตามธรรมชาติของแม่น้ำ, การปรับปรุงคุณภาพน้ำ, การปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยและสายพันธุ์ที่สำคัญ และการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ล้าสมัย เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศของแม่น้ำโขง.

เครดิตภาพ : AFP