เมื่อวันที่ 5 มี.ค. พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2567 โดยมี ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ คณะทำงานกองอำนวยการฝึกฯ และกำลังรบทั้ง 3 มิติ พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ แถวรับการตรวจความพร้อมการฝึกดำรงความพร้อมรบ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านกำลังรบ ในการรักษาอธิปไตยของชาติ ตามแผนป้องกันประเทศ ภายใต้การฝึกที่ว่า “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 15 หาดยาวแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ในการนี้ กำลังพลของกองทัพเรือ ทั้งทางบก เรือ และอากาศ ได้ประกอบกำลังเป็นหน่วยกำลังรบ สาธิตการปฏิบัติการทางทหาร โดยจำลองสถานการณ์การสู้รบปัญหาความขัดแย้งป้องกันพื้นที่ชายฝั่ง โดยภารกิจในการป้องกันภัยทางอากาศนั้น กองทัพอากาศ ได้ส่งเครื่องบินขึ้นสกัดกั้นข้าศึก 2 ลำ และไล่ติดพันกันมาจนใกล้เข้าเขตการยิง ก่อนส่งมอบเป้าให้กับหน่วย สอ.รฝ. ทำการใช้อาวุธปล่อยนำวิถี FK-3 และปืนต่อสู้อากาศยาน ทำการยิงสกัดกั้นทำลายเป้าหมายทางอากาศ และกำลังรบยกพลขึ้นบก กำลังปฏิบัติการพิเศษ อาวุธจากเรือผิวน้ำ และอากาศยาน จากฝ่ายข้าศึก

การฝึกกองทัพเรือ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 พ.ย.66–1 ส.ค.67 โดยมีกำลังพลจากหน่วยขึ้นตรง ประกอบด้วย กำลังรบทางเรือ กองเรือยุทธการ (กร.) กำลังรบทหารราบ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (น.ย.) กำลังรบต่อสู้อากาศยาน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ตลอดจน หน่วยสนับสนุนต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 4,500 นาย มีพื้นที่การฝึกทั้งในทะเลและบนบก อาทิ การคุ้มครองเส้นทางคมนาคมทางทะเล การโจมตีกำลังทางเรือของฝ่ายตรงข้าม การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การป้องกันฝั่ง การปราบเรือดำน้ำ การต่อต้านเรือผิวน้ำ การป้องกันภัยทางอากาศ การปฏิบัติการพิเศษ รวมทั้งปฏิบัติการข่าวสาร และสงครามไซเบอร์

ทั้งนี้ จะมีการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-อากาศ แบบ ESSM การฝึกยิงตอร์ปิโด การฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือและอากาศยาน ซึ่งนอกจากอากาศยานของกองทัพเรือแล้ว กองทัพอากาศ ยังได้จัดส่งเครื่องบินขับไล่แบบ JAS-39 Gripen (บข.20) และเครื่องบินควบคุม และแจ้งเตือนภัยทางอากาศ SAAB 340 AEW (บ.ค.1) เข้าร่วมในการฝึกการป้องกันภัยทางอากาศและการโจมตีเรือในทะเล

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการฝึกฯ นอกจากกำลังพลจะได้รับความรู้ ความชำนาญ ยังทำให้กองทัพเรือได้รับทราบถึงขีดความสามารถ และข้อจำกัดของกำลังทางเรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันกับ ศรชล. และเหล่าทัพ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาขีดความสามารถภารกิจป้องกันประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยขีดความสามารถของกำลังทางเรือในสงคราม ยังสามารถรักษาผลประโยชน์ของชาติ การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในยามปกติได้อีกด้วย