เห็นได้จากรายงาน A Net Zero Road Map for Travel and Tourism ของ World Travel & Tourism Council (WTTC) ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของ GHG ในทุกกิจกรรมของโลก และโรงแรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยไม่ถึง 1% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกิจกรรมของโลก

แต่เป็นสิ่งที่โรงแรมทั่วโลก และไทยต่างให้ความสำคัญมากขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่ายังไม่บังคับเป็นกฎกติกาที่ต้องให้โรงแรมปฏิบัติตาม ทาง “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้เปิดบทวิเคราะห์ว่า เป็นผลจากความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มที่เดินทางเพื่อธุรกิจ การจัดงานประชุมสัมมนาทั้งจากองค์กรต่างประเทศและในประเทศ จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงในภูมิภาคอเมริกาและยุโรป โดย HRS พบว่า กว่า 78% ของกลุ่มตัวอย่างในยุโรป และ 61% ของกลุ่มตัวอย่างในอเมริกาเหนือ ต้องการให้โรงแรมที่บริษัทจะใช้บริการแสดงหลักฐานข้อมูลหรือเอกสารรับรอง (Certificate อาทิ Green Key, GSTC และ Green Globe) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานสากลหรือของแต่ละประเทศ สำหรับบริษัทที่ประกาศใช้นโยบายดังกล่าว เช่น Siemens, Microsoft, Amazon และ Ernst & Young

นอกจากนี้การแข่งขันกับหลายแบรนด์ที่เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนแล้ว อาทิ โรงแรมเชนรายใหญ่ของโลกมีการประกาศเป้าหมายการลดหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เริ่มมีการปรับมาใช้พลังงานหมุนเวียนบางส่วน การปรับเปลี่ยนทั้งด้านฮาร์ดแวร์อย่างการเปลี่ยนเป็นหลอดไฟประหยัดพลังงาน การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการใช้ไฟและนํ้าให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่ในด้านซอฟต์แวร์ ได้แก่ การติดตั้งระบบการบริหารจัดการพลังงาน การติดเซ็นเซอร์เพื่อบันทึกข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและนํ้า รวมถึงการใช้วัสดุตกแต่งในโรงแรมที่ทำมาจากวัตถุดิบ Recycle และ Upcycle การใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากการขนส่ง ขณะที่โรงแรมที่สร้างใหม่มีการออกแบบโรงแรมและรูปแบบการบริหารจัดการให้ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

รวมถึงพันธมิตรทางการค้าที่ต้องการคู่ค้าที่มีการปรับตัวสู่ความยั่งยืน อย่างออนไลน์ทราเวลเอเยนต์ (OTAs) รายใหญ่ เริ่มมีการระบุสถานะของโรงแรมและที่พักที่ได้รับการรองรับว่ามีการจัดการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ

หันมาดูความพร้อมของโรงแรมและที่พักในไทย สถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของโรงแรมในไทยสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย ขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่มีการตั้งเป้าหมาย Net Zero ยังน้อยและดำเนินการเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ จากข้อมูลของ Cornell Hotel Sustainability ณ เดือนก.พ. 67 พบว่า ค่าเฉลี่ยของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อการเข้าพักของลูกค้า 1 ห้อง ของโรงแรมในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 0.064 ตันคาร์บอน (tCO2e) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงแรมในภูมิภาคเอเชียที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ประมาณ 0.057 ตันคาร์บอน และเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 0.019 ตันคาร์บอน

ผู้ประกอบการโรงแรมไทยสนใจดำเนินการด้านความยั่งยืน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการวัดผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดทำรายงานความยั่งยืน หรือเพียงเริ่มดำเนินการจากส่วนที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงและทำได้ทันที เนื่องจากรายได้ธุรกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด ทั้งนี้ จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า

ผู้ประกอบการกว่า 52.8% มีการปรับตัว เช่น การเปลี่ยนเป็นหลอดไฟประหยัดพลังงาน การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ส่วนกลาง การเปลี่ยนอุปกรณ์และติดตั้งระบบการประหยัดนํ้า การคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล หรือทำเป็นปุ๋ย รวมถึงการลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ซึ่งโรงแรมที่มีการปรับตัวส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่และโรงแรมที่บริหารโดยเชนจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการเกือบทั้งหมด หรือประมาณ 96.5% ยังขาดความเข้าใจในการวัดผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการจัดทำรายงานความยั่งยืน

ช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ผู้ประกอบการเกือบครึ่ง (43.8%) มีแผนที่จะยกระดับโรงแรมให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีแผนหรือยังไม่แน่ใจมีสัดส่วนมากกว่าครึ่ง เนื่องจากมีความกังวลเรื่องเงินทุน ต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวดีหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 และยังไม่มีความชัดเจนในมาตรฐานการวัด

จากเรื่องนี้ “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย มองว่า ผู้ประกอบการโรงแรมได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยมีจัดคอร์สอบรมให้กับโรงแรมสมาชิกให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม พร้อมแนะนำให้ปรับเปลี่ยนวัสดุที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน รวมถึงการลดขยะส่วนเกินในโรงแรมโดยการคำนวณอาหารในปริมาณที่จำเป็นในแต่ละวัน โดยเฉพาะการจัดเตรียมอาหารภายในงานเลี้ยงในรูปแบบบุฟเฟต์ ด้านผู้ประกอบการโรงแรมพยายามสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้จัดงานให้เปลี่ยนเป็นอาหารแบบเซต เซตเดี่ยวแทนเพื่อลดปริมาณขยะส่วนเกินในส่วนนี้

ขณะเดียวกันโรงแรมหลายแห่ง มีการร่วมกับองค์กรเพื่อส่งต่อด้านอาหารที่เหลือไปให้กับผู้ยากไร้ นำอาหารที่เหลือแต่ยังไม่ได้กินส่งมอบให้กับองค์กร ส่งต่ออาหารฯ เพื่อลดปริมาณขยะและยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าอีกด้วย นอกจากนั้นผู้ประกอบการโรงแรมหลายแห่งเริ่มหันมาลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ขวดใส่สบู่ แชมพู จากเดิมที่ใช้ขวดเล็กก็เปลี่ยนเป็นขวด
ใหญ่ รวมถึงการใช้หลอดกระดาษ และโรงแรมเองได้มีการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อนำสินค้าในชุมชนที่ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติมาปรับใช้ รวมถึงโรงแรมในต่างจังหวัดก็ได้มีการจ้างงานคนในชุมชนเพื่อลดการเดินทางที่ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ เป็นต้น

ทั้งนี้ยอมรับว่า เทรนด์การท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปและการจัดประชุมบริษัทข้ามชาติ โดยจะเลือกจัดงานกับโรงแรมที่มีการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ วัสดุในการจัดงานที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก อย่างไรก็ตามโลเกชันเป็นสิ่งแรกที่นักท่องเที่ยวยุโรปจะตัดสินใจเลือกจองโรงแรม ส่วนการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นสิ่งที่รองลงมา แต่หากมีสองสิ่งพร้อมกัน ก็จะช่วยให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเลือกมากขึ้น นอกจากนั้นใน Booking.com มีระบุบนเว็บไซต์ชัดเจนว่าโรงแรมไหนบ้างที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เพราะฉะนั้นเพื่อให้โรงแรมในไทยมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน คงจะต้องมีการสนับสนุนอีกมาก โดยเฉพาะภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น การจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงและกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล การออกมาตรการทางภาษีชั่วคราวอย่างการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่มีการลงทุนหรือปรับปรุงโรงแรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และภาครัฐควรจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพลังงานทางเลือกพลังงานหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการใช้ในต้นทุนที่ถูกลง.

ทีม sustainable daily
[email protected]