ผมถามว่าจะเชิญไปเป็นแขกผู้มีเกียรติเพื่อให้มี Gender Balance ในงานที่มีแต่ผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่หรือครับ น้อง ๆ บอกว่ามิได้ค่ะ ขอเชิญอาจารย์มาเป็น MC ผู้ดำเนินรายการ เพราะมีชื่อเสียงด้านสตรีและความหลากหลายทางเพศอย่างลึกซึ้ง ซึ่งผมคงปฏิเสธไม่ได้

ตอนผมไปถึงงานก็ได้พบปะพูดคุยกับสตรีที่เป็นผู้นำองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม และที่เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม และมีทั้งสุภาพสตรีที่ผมคุ้นเคย ที่ได้ร่วมทำงานช่วยเหลือสังคมกันมาหลายสิบปี กับมีสุภาพสตรี และเพศอื่น ๆ อีกหลากหลาย ที่อยู่ใน Gen X, Y, Z และ Alpha มาร่วมวง ซึ่งการอยู่ในกลุ่มของผู้ประกอบการสตรี ผมรู้สึกถึง Passion ที่มีพลังเต็มเปี่ยม แต่ก็เต็มไปด้วยความอบอุ่นของ Soft Power ที่แตกต่างจากผู้ประกอบการที่เป็นผู้ชายซึ่งผมคุ้นเคย ทำให้ตื่นเต้นและอยากได้ยินเรื่องราวที่ผู้ประกอบการสตรีเหล่านี้จะเล่าให้ฟัง

ผมเริ่มดำเนินรายการด้วยมุกเดิม ๆ ที่ว่าผู้ประกอบการชายมักจะมาจากดาวอังคาร (Mars) แต่ผู้ประกอบการสตรีจะมาจากดาวอีกดวง คือดาวศุกร์ (Venus) วันนี้ลองมาเรียนรู้กันว่าผู้ประกอบการสตรีมีจุดเด่นอะไร ต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้าง รวมถึงยากเย็นกว่าผู้ชายแค่ไหน และพวกเธอจะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ยั่งยืนขึ้นได้อย่างไร

ผมเริ่มจากเชิญคุณ Lars Svensson ผู้อำนวยการศูนย์ Sasin Sustainability & Entrepreneurship Center ขึ้นกล่าวเปิดงาน คุณ Lars เล่าว่าที่ศศินทร์นั้น เรื่องการจัดการ การเป็นผู้ประกอบการ และความยั่งยืน คือเป้าหมายของการเรียนรู้ ศศินทร์ร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายความยั่งยืน SDG สำหรับการขับเคลื่อนเรื่อง ผู้ประกอบการสตรีนั้น ทางศศินทร์จัดกิจกรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และในปีนี้เป็นช่วงที่เราได้เฉลิมฉลอง Woman Impact Entrepreneur Week กัน โดยร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ได้แก่ UN Women, UN Global Compact Network Thailand (UNGCNT), Aspen Network of Development Entrepreneurs (ANDE East and Southeast Asia), WE-Can (Space Bangkok) และ DailyNews

ต่อจากนั้นก็ตั้งวงคุยกันเรื่องอุปสรรคต่าง ๆ ของผู้ประกอบการสตรี และแนวทางช่วยกันขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง ชวนคุยโดย ทีมงาน Change Fusion จากนั้นก็เป็นเวทีสำหรับผู้ประกอบการสตรี ที่มีผู้นำสตรีเรียงรายกันขึ้นเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ปัญหาของธุรกิจ หรือการถูกมองว่าเป็นผู้ประกอบการที่ไม่แข็งแกร่งเท่าผู้ชาย การหาแหล่งทุนและผู้สนับสนุนก็ได้มาด้วยความยากลำบาก ยิ่งผู้ประกอบการที่มีความหลากหลายทางเพศ บางครั้งก็ถูกมองหรือถูกหยามด้วยคำพูดแปลก ๆ ซึ่งถ้าเป็นผู้ประกอบการชายก็คงไม่โดนเช่นนั้น แต่พวกเธอทั้งหลายก็อดทน และพยายามก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปทีละก้าว

สำหรับผู้ประกอบการสตรีที่ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับประสบการณ์ ได้แก่ 1.คุณ Nayada Thippayaatsawapakin: Founder, BeWise Academy 2.คุณ Nattakan Denwanitchakorn: CEO, Joy Ride Thailand 3.คุณ Sisrimas Suwanwijit, MD: CEO, Sex-O-Phone 4.คุณ Supapim Wannopas: Thailand Project Manager, UN Women 5.คุณ Sumalee Kristarnin: Country President, Novartis (Thailand) Limited โดยมีคุณ Rozanne Henzen เป็นผู้ดำเนินการสนทนา

ตอนที่ผมได้นั่งฟังแต่ละท่านบอกเล่าประสบการณ์ และสิ่งที่พวกเธอเจอมาในช่วงหลายปีนั้น ผมรู้สึกได้เลยว่าโลกของเรายังไม่มีความ
เท่าเทียมอย่างที่เราเรียกร้อง แม้องค์กรต่าง ๆ จะประกาศว่าเราสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ และให้ความเท่าเทียมกับสตรีเพศ แต่ที่จริงแล้วยังห่างไกลอยู่มากนัก แม้เราต่างมีความหวังว่ามนุษย์ทุกคนน่าจะมีความเท่าเทียม น่าจะมีโอกาสตามความสามารถและศักยภาพ รวมถึงมีการแข่งขันเพื่อตำแหน่งที่เป็นธรรม ซึ่งความสำเร็จนั้นควรจะเกิดจากความสามารถ มิใช่ด้วยความได้เปรียบทางอำนาจของบุรุษเพศ ด้วยการเห็นแก่พวกพ้อง หรือด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน

ผมเชื่อเสมอว่าถ้าโลกของเราให้โอกาสผู้หญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นผู้นำ หรือเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น โลกของเราจะมีความอบอุ่น มีความรัก มีความห่วงใยสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราพิชิตเป้าหมายความยั่งยืน SDG ได้อย่างนุ่มนวล.