ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ต.วัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม นายรนัสถ์ชัย พุ่มเจริญ รอง ผวจ.สมุทรสงคราม เป็นประธานเปิดโครงการขยายผลและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร โดยนายประสิทธิ์ สิงห์ชา เกษตร จ.สมุทรสงคราม จัดขึ้นตามนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพของกรมส่งเสริมการเกษตร 

เนื่องจากปุ๋ยเคมีราคาสูง ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีการผลิตและใช้แหนแดง รวมทั้งใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ปรับปรุงความเป็นกรดด่างของดินให้เหมาะสม ใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน (ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ) และใช้ปุ๋ยพืชสดอย่างต่อเนื่อง กับส่งเสริมสนับสนุนให้ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) เป็นต้นแบบและกลไกในการขยายผลสู่ชุมชน 

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในประเทศไทยมี 149 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ 131 ล้านไร่ มีความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีประมาณ 8.06 ล้านตัน ทำให้ปุ๋ยเคมีเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตพืชและต้นทุนการผลิตกว่าร้อยละ 20 เป็นค่าปุ๋ยเคมี โดยประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 98 ต่อปี แต่ละปีนำเข้าปุ๋ยเคมีประมาณ 5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 40,000-50,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามปี 2564 ทั่วโลกประสบกับสถานการณ์ปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้นทำให้ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มขึ้น สำหรับ จ.สมุทรสงคราม ก็เช่นกัน เนื่องจากมีพื้นที่การเกษตรกว่า 170,000 ไร่

นายประสิทธิ์ กล่าวถึงแหนแดงว่า เป็นเฟิร์นลอยน้ำชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก เปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพ เนื่องจากมีกระบวนการตรึงไนโตรเจนของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง ทำให้แหนแดงมีประโยชน์ในด้านทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ กรมวิชาการเกษตรจึงแนะนำให้เกษตรกรใช้แหนแดง สายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) มีลักษณะเด่น คือมีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า เพาะเลี้ยงได้ง่าย เจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ 

นอกจากนี้ ยังเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดินด้วยการเพิ่มอินทรียวัตถุ ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้นในระยะยาว อีกทั้งแหนแดงมีธาตุอาหารไนโตรเจนสูงถึง 4.6 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าพืชตระกูลถั่วที่มีอยู่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้นในระยะยาว และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมีได้หากใช้ควบคู่กัน อีกทั้งยังสามารถใช้แหนแดงได้ทันทีไม่ต้องทำเป็นปุ๋ยหมัก เพราะแหนแดงมีคาร์บอนต่อไนโตรเจนต่ำ จึงย่อยสลายเป็นธาตุอาหารได้เร็ว ลดการเจริญเติบโตของวัชพืชในนาข้าว สามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ เพราะมีแหล่งโปรตีนสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ นำมาเลี้ยงเป็ด ไก่ จิ้งหรีด และปลาได้ ต้นทุนการผลิตแหนแดงอะซอลล่า ไมโครฟิลล่าต่ำ แต่ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า

จากนั้นนายรนัสถ์ชัย นายประสิทธิ์ หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด และเกษตรกร ได้ร่วมโยนแหนแดงและต้นกล้าข้าวพันธุ์ กข 41 ในแปลงนาสาธิตที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลวัดประดู่ พร้อมเยี่ยมชมสถานีเรียนรู้เรื่องการเกษตรต่างๆ ได้แก่ สถานีที่ 1 แหนแดงอะซอลล่า ไมโครฟิลล่า กับการผลิตขยาย สถานีที่ 2 การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูแหนแดง สถานีที่ 3 การใช้แหนแดงในพืชผัก ปศุสัตว์ และนาข้าว สถานีที่ 4 วัสดุปลูกจากแหนแดง และสถานีที่ 5 เพิ่มมูลค่าแหนแดง (ขี้แดดเทียม และก้อนเบญจคุณ) โดยมีเกษตรกรใน จ.สมุทรสงคราม เข้ารับการอบรม 125 คน และมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 25 คน เพื่อหมุนเวียนเข้าเรียนรู้ในสถานีดังกล่าวอีกด้วย