ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกลุ่มที่มีทักษะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมการวิจัย พัฒนานวัตกรรม และความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ล่าสุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิอรุณ สรเทศน์ และสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) ร่วมจัดงานเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “The Path to Carbon Neutrality: Transforming Green Supply chains and Business” โดยให้ความสำคัญกับบทบาทและการปรับตัวของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของธุรกิจที่ยั่งยืนของประเทศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และเน็ตซีโร่ ในปี 2065 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ในมุมนโยบายภาครัฐ “พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช” อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมแลกเปลี่ยน
มุมมองที่มีต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคนโยบายว่า แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เป็นกรอบการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ เพื่อมุ่งสู่การมีภูมิคุ้มกัน
ลดความเปราะบาง ทั้งยังสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแผนให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางบูรณาการ และปรับตัวต่อผลกระทบดังกล่าวเข้าสู่แผนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงใช้เป็นกรอบในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านการปรับตัวของประเทศอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรม มีเป้าหมายในดำเนินงานทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่

1. การจัดการทรัพยากรนํ้า เพิ่มความมั่นคงด้านนํ้าของประเทศ ลดความสูญเสียและเสียหายจากภัยพิบัติที่เกิด
จากนํ้า

2. การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร รักษาเสถียรภาพความเพียงพอ การเข้าถึง และการใช้ประโยชน์ทางอาหาร

3. การท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถของภาคการท่องเที่ยวให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน

4. สาธารณสุข มีระบบสาธารณสุขที่สามารถจัดการความเสี่ยงและลดผล
กระทบจาก Climate change

5. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

6. การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ ประชาชน ชุมชน และเมือง มีความพร้อมและสามารถปรับตัวต่อผล
กระทบจาก Climate change

ทั้งนี้วางกรอบระยะเวลาดำเนินงานไว้ทั้งหมด 3 ระยะ โดยเป้าหมายระยะสั้น (ปี 66-70) เตรียมความพร้อมและวางรากฐานในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินการที่ต้องการกลไกการผลักดันในระดับนโยบาย เป้าหมายระยะกลาง (ปี 71-75) การดำเนินการที่เป็นการ
พัฒนากลไกและสร้างขีดความสามารถตามแผนการปรับตัวและสร้างศักยภาพใหม่ และเป้าหมายระยะยาว (ปี 76-80) การดำเนินการตรวจสอบภูมิคุ้มกันของสภาพอากาศในการดำเนินการพัฒนาของประเทศ

“การดำเนินงานของประเทศไทยที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ยังถือว่า เป็นการยากที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงต้องวางกรอบนโยบาย ตลอดจนการกำหนดกลไกและเครื่องมือ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมาย อีกทั้งหวังว่าร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังดำเนินการจัดทำจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการ
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น”

ด้านการปรับตัวพลังงาน “วฤต รัตนชื่น” ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มองว่า ได้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ควบคู่กับการจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และนำเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานเข้ามาประยุกต์ใช้ ได้แก่ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และโรงไฟฟ้าพลังนํ้าแบบสูบกลับ เพื่อให้สามารถเก็บไฟฟ้าส่วนที่ผลิตไว้ใช้ในอีกช่วงเวลาหนึ่งได้ อีกทั้งการสนับสนุนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญ ที่จะนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมาย Carbon Neutrality คือเน้นการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม

“กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์” รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงความท้าทายของภาคธุรกิจปรับตัวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนว่า ภาคการเงินควรมีบทบาทในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันกับองค์กรธุรกิจ รวมถึงให้ข้อมูลควบคู่กับเทคโนโลยี เพื่อสามารถตรวจสอบและประเมินต้นทุนคาร์บอน ตลอดจนกำหนดเส้นทางการลด Carbon Footprint

“ธนกร ชาลี” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ. เอ็ม เอฟ อี ซี กล่าวถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน เป็นการบริหารจัดการข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยี dashboard recording เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีนัยสำคัญ สามารถประเมินและแปลงหน่วยเพื่อนำมาคำนวณ Carbon Footprint และยังสามารถจัดทำรายงานเบื้องต้นเพื่อแสดงสถานะการปล่อย Carbon Footprint เบื้องต้นขององค์กร เพื่อจัดทำเป้าหมายการลดในเรื่องดังกล่าวขององค์กรต่อไปได้

“พิสุทธิ์ เพียรมนกุล” ผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน กล่าวถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาในเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยสถาบันการศึกษาควรให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นกลาง รวมถึงสร้างงานวิจัยที่สามารถทำร่วมกับองค์กรเพื่อแก้ไขปัญหาจริงได้ โดยนำเทคโนโลยี เช่น เอไอเข้ามาช่วย ตลอดจนนำข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยมาต่อยอด

นอกจากนี้ได้เปิดตัว “โครงการ Chula Learn-Do-Share 2024” เพื่อพัฒนาศักยภาพนิสิต และบุคลากรของหน่วยงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นกลุ่มคน Green talent เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิด เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า ในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งประกาศความร่วมมือการขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยนวัตกรรมระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ ผ่านการประยุกต์ และบูรณาการศาสตร์ทางวิศวกรรมและนวัตกรรมด้วย.

ปิยาพัชร นนทะสี
[email protected]