นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัททรูคอปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากร เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ ซึ่งทุกภาคส่วนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ เริ่มตั้งแต่หน่วยที่เล็กสุดคือครอบครัว พ่อแม่ ที่มีสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ (Do and Don’t) โดยครอบครัวจะต้องให้เด็กรับรู้ได้ถึงความรัก และความมั่นใจ เมื่อเข้าสู่ภาคการศึกษา บทบาทเอกชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาคการศึกษาได้ ในช่วงที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ร่วมกันกับภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อบูรณาการโรงเรียนกว่า 5,500 โรงเรียน ภายใต้โครงการสานอนาคตการศึกษา (CONNEXT ED) โดยมีกระบวนการสร้างรวามเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า โมเดลสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน Sustainable Intelligence ใน 5 เสา คือ 1) ความโปร่งใส 2) กลไกตลาด 3) บุคลากร 4) เด็กเป็นศูนย์กลาง และ5) เทคโนโลยี ซึ่งทั้ง 5 เสา เป็นกระบวนการซึ่งสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง (transformation) แก่ระบบการศึกษา

 “ความโปร่งใสเป็นเรื่องของตัวชี้วัด มีการประเมินโรงเรียนทุกมิติ บุคลากรที่เราให้ความสำคัญคือ ผอ.โรงเรียน เป็นเหมือนพ่อแม่คนที่สอง ซึ่งเป็นผู้นำที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และต้องทำให้คุณครูเป็นสายอาชีพที่ดึงดูดบุคลากรคุณภาพสูง เป็นเหมือนกลไกตลาดที่จะดึงคนเก่งเข้ามาในสายอาชีพครู และการประเมินผลงานครูเวลารับสมัครครูใหม่ ต้องดูว่ามีจิตสาธารณะหรือไม่ และต้องประเมินยาวอย่างน้อยถึง12 เดือน จึงจะรู้ว่าคนที่จะมาเป็นครูนั้นเหมาะสมหรือไม่

การศึกษาเด็กต้องเป็นศูนย์กลาง เด็กต้องเป็นคนตั้งคำถาม แม้ว่าคำถามนั้นครูจะได้ยินมาเป็นร้อยเป็นพันครั้ง หากครูเปิดโอกาสให้เด็กตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ เป็นกระบวนการวนไปไม่รู้จบ บทบาทของครูจะเปลี่ยนจากผู้สั่งการ หรือ Instructor มาเป็น Coach หรือเป็น Facilitator โดยครูจะทำให้เกิดความเป็นทีมและทุกคนมีที่ยืน ทั้งนี้กระบวนการทำงานต้องลงมือทำแบบ action based ซึ่งต่างจากอดีตมาก ที่เรียนแบบแถวหน้ากระดานและครูเป็นศูนย์กลาง การเรียนแบบทำตามคำสั่ง จะเป็นการจำกัดอุตสาหกรรม การเรียนแบบท่องจำ ทำงานเป็นไซโล เปรียบได้กับยุค 2.0 แต่วันนี้การศึกษาต้องเป็นยุค 5.0 ที่ต้องมีทั้งเทคโนโลยี และควบคู่กับคุณธรรมจริยธรรม ส่วนเสาที่ 4 เรื่องหลักสูตร ต้องปรับให้เด็กเป็นนักสำรวจ (explorer) ซึ่งสมัยก่อนโรงเรียนที่ดีห้องสมุดต้องใหญ่ แต่ปัจจุบันนักเรียนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นห้องสมุดที่มีองค์ความรู้มหาศาล บุคลากรยุคใหม่ ทุกแขนง ทุกภาควิชาเกี่ยวกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ เรื่องเอไอ ทำอย่างไรให้วิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์อยู่ในหลักสูตร การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ เข้าถึง อินเทอร์เน็ตที่มีซอฟต์แวร์คัดกรอง (filtering software ) มหาสมุทรอินเทอร์เน็ตที่มีการคัดกรอง สำหรับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

นายศุภชัยกล่าวด้วยว่า จากพื้นฐานความเชื่อที่ว่า “สังคมที่ดี” ย่อมเกิดจาก “คนที่มีคุณภาพ” และคนที่มีคุณภาพนั้นก็คือ คนที่เป็นทั้ง “คนดีและคนเก่ง”ควบคู่กัน ทรูจึงมีแนวทางให้ “ความรู้คู่คุณธรรม” แก่ทุกคนในสังคม นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 โดยนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีการสื่อสารของกลุ่มทรู มาร่วมพัฒนาการศึกษา สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อให้คนไทยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้

ทรูปลูกปัญญา เปิดโลกทัศน์การเรียนรู้สู่โรงเรียนทั่วประเทศ รวมกว่า 6,000 โรงเรียนโครงการเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้สู่โรงเรียนทั่วประเทศ หรือโรงเรียนในโครงการทรูปลูกปัญญา มุ่งเพิ่มโอกาสให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงแหล่งความรู้ได้เท่าเทียมกับในเมืองใหญ่ โดยการนำสื่อและเทคโนโลยีทุกรูปแบบของทรูที่มีอยู่อย่างครบวงจรไปมอบให้โรงเรียนที่ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน อาทิ ชุดอุปกรณ์รับสัญญาณผ่านดาวเทียม เครื่องโทรทัศน์ พร้อมช่องรายการคุณภาพที่มีเนื้อหาสาระเพื่อการเรียนรู้ที่คัดสรรแล้วจากทรูวิชั่นส์ และสื่อดิจิทัลเสริมการเรียนการสอนของทรูปลูกปัญญา เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนและคุณครูได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้ ได้ทัดเทียมกับคนในเมืองใหญ่ เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ที่ยั่งยืน และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ชุมชน สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติต่อไป โดยปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการรวมกว่า 6,000 โรงเรียน

นอกจากนี้ ทรูยังมี คลังข้อสอบ : ชุดข้อสอบออนไลน์ สำหรับทบทวน ทดสอบความรู้และเช็คความพร้อมก่อนลงสนามสอบจริง พร้อมคลิปติวแก้จุดอ่อน โดยได้ต่อยอดพัฒนาเป็นระบบอัปสกิล (Upskill) กระบวนการที่ให้นักเรียนสามารถเรียนรู้พัฒนาตัวเองได้อย่างครบวงจรแบบเฉพาะของแต่ละบุคคล ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกทำข้อสอบตามวิชาที่ต้องการ พร้อมรับรายงานผล

“สุดท้ายความรู้ต้องคู่คุณธรรม เรื่องคุณธรรม จริยธรรม หากจะสอนให้เด็กจำศีล 5 คงไม่ยาก แต่หากจะสอนให้ปฏิบัติตามศีล 5 นั้นไม่ง่าย ดังนั้นต้องให้เด็กได้ค้นคว้า ค้นหา ปฏิบัติ โดยมีโจทย์ด้านความยั่งยืน ปัญหาสังคม ผ่านศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งทุกโรงเรียนควรมีศูนย์การเรียนรู้ ที่เด็กสามารถเลือกเรียนในเรื่องที่สนใจ และมีโอกาสปฏิบัติ ทั้งส่วนวิชาชีพ ต่อยอดเรื่องใหม่ๆ โดยค้นหาสิ่งที่เด็กสนใจ และในขณะที่เด็กบางกลุ่มครอบคลุมไปถึงเรื่องคุณธรรม การแก้ปัญหาในสังคม เป็นศูนย์ความรู้ในเชิงลึกในแต่ละด้าน และเชื่อมโยงเอกชนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เป็นฐานให้เด็กมาเรียนจากของจริงด้วย ผู้ประกอบการในท้องถิ่นก็มาร่วมเป็นฐานการเรียนรู้ในชุมชนได้” นายศุภชัยกล่าว