เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า  ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการจัดทำข้อสงวนในข้อบทที่ 42 (การนำข้อพิพาทระหว่างรัฐเข้าสู่การพิจารณาโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ) เพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (อนุสัญญาฯ) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำข้อสงวนในข้อบทที่ 42 เพื่อประกอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ต่อไป

น.ส.เกณิกา กล่าวอีกว่า สำหรับสาระสำคัญของเรื่องดังกล่าวนั้น กระทรวงยุติธรรมรายงานว่า หลังจากที่ไทยได้มีกฎหมายรองรับการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาจัดทำข้อสงวน และคำแถลงตีความต่ออนุสัญญาฯ สำหรับการเตรียมการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ได้แก่ 1.การประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2559 และ 2.การประชุมร่วมกันระหว่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2566 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ไทยดำเนินการจัดทำข้อสงวนตามข้อบทที่ 42 กรณีการนำข้อพิพาทระหว่างรัฐเข้าสู่การพิจารณาโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ระบุว่าหากเกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐภาคี 2 รัฐขึ้นไปเกี่ยวกับการตีความและการนำอนุสัญญาฯ ไปปฏิบัติ ซึ่งไม่สามารถยุติได้ด้วยการเจรจารัฐฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ แต่หากภายใน 6 เดือน ไม่สามารถตกลงกันได้ รัฐฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นเรื่องข้อพิพาทดังกล่าวต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ ทั้งนี้ ในขณะที่ลงนามหรือให้สัตยาบัน รัฐภาคีสามารถประกาศว่าจะไม่ผูกพันตามข้อบทที่ 42 ได้ และจะเพิกถอนคำประกาศนั้นเมื่อใดก็ได้ โดยแจ้งต่อเลขาธิการสหประชาชาติ

น.ส.เกณิกา กล่าวว่า  ส่วนการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ไทย เพราะแสดงให้เห็นว่าไทยมีเจตนารมณ์และความตั้งใจจริงที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนเทียบเท่ากับระดับสากล ซึ่งส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทย และทำให้ไทยได้รับการยอมรับและความเชื่อถือจากประชาคมระหว่างประเทศ อีกทั้งเป็นการยกระดับกระบวนการยุติธรรม สร้างหลักประกันว่าจะไม่มีการงดเว้นโทษต่อผู้กระทำความผิด รวมถึงสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถลิดรอนเสรีภาพทั้งปวงได้ อีกทั้งถือเป็นหนึ่งในผลสำเร็จของรัฐบาลไทยที่สามารถนำเสนอในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ระดับสูง) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนก.พ.-มี.ค.2567 และช่วยสนับสนุนให้ไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปี 2567 ได้ด้วย