เมื่อวันที่ 14 มี.ค. เวลา 16.00 น. ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง หารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รมว.พาณิชย์สหรัฐอเมริกา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันเสริมสร้างโอกาสในการเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่าประเทศไทยเปิดรับภาคเอกชนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น และไทยมีจุดแข็งในหลายด้านที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน รวมถึงรัฐบาลกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจให้ง่ายขึ้น อีกทั้ง รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยมีการพัฒนาสนามบินและท่าเรือ เพื่อให้รองรับต่อการเดินทางและขนส่งสินค้า รวมถึงมีโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะสร้างผลประโยชน์ทั้งต่อไทยและภูมิภาค ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์เช่นกัน นนอกจากนี้ ไทยพร้อมรองรับให้ภาคเอกชนสหรัฐฯขยายฐานการผลิตในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เศรษฐกิจสีเขียว และการจัดตั้งดาต้า เซ็นเตอร์ อุตสาหกรรมผลิตเซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีและความพยายามของรัฐบาลในการแสดงบทบาทเชิงรุก ผ่านการเดินทางไปพบปะหารือกับทางผู้นำรัฐบาลและภาคเอกชนในต่างประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ มองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดีและสามารถสร้างการรับรู้ได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งได้แสดงความชื่นชมรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฝ่ายสหรัฐฯหวังว่าจะมีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนสหรัฐฯกับไทยเพิ่มขึ้น และรมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ได้เชิญนายกฯ ร่วมการประชุม IPEF Clean Economy Investor Forum ที่ประเทศสิงคโปร์ ในเดือนมิ.ย.นี้ พร้อมมองว่ากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) จะเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ได้เห็นถึงศักยภาพของไทย และแนวทางในการเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องถึงการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ปราศจากคอร์รัปชัน ยึดถือกฎระเบียบและกฎหมาย รวมถึงต้องมีทรัพยากรและแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งนายกฯเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ซึ่งการฝึกทักษะและการอบรมจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและต่อบริษัทที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยด้วย ขณะที่รมว.พาณิชย์สหรัฐฯยินดีส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานไทย ผ่านความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาของสหรัฐฯ กับหน่วยงานที่รับผิดชอบการเสริมสร้างทักษะและการอบรมแรงงานไทยได้ในอนาคต ด้านพลังงานสะอาด ทั้ง 2 ฝ่ายหารือถึงการพิจารณาความเป็นไปได้ในการลงทุนในพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งฝ่ายไทยระบุว่ากำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ แต่จำเป็นต้องศึกษาเรื่องความปลอดภัย รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯ มองว่าการลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์จะสร้างโอกาสในการจ้างงาน รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่สะอาดและมีราคาถูก

ต่อมา เวลา 16.30 น. รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ได้นำนาย Mark Ein ประธานสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council : PEC) และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับนายกรัฐมนตรี ที่ตึกภักดีบดินทร์ สำหรับคณะ PEC เป็นคณะผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนและองค์กรสหรัฐฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ 10 ราย อาทิ Mastercard, Boston Consulting Group, Kearney, Coastal Construction Group, มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon และ EXIM Bank

ทั้งนี้ คณะ PEC ได้ชื่นชมบทบาทการดำเนินงานของนายกรัฐมนตรีที่ผลักดันและดึงดูดให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมายังประเทศไทย พร้อมอำนวยความสะดวกในการลงทุน นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือในด้านพลังงานสะอาด การเปลี่ยนผ่านสีเขียว และเทคโนโลยีสีเขียว ขณะที่นายกรัฐมนตรีต้องการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของไทย ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมสำคัญ รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความร่วมมือด้านการศึกษา ตลอดจนเพิ่มพูนความร่วมมือในระดับภูมิภาค

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผ่านแอปพลิเคชัน X ว่า คณะ PEC สนใจจะขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ ห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว อีกทั้ง ตนได้นำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ และวิสัยทัศน์ Thailand Vision 2030 ซึ่งสอดคล้องกับความสนใจด้านการลงทุนของสหรัฐฯ ในเรื่องพลังงาน ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า เศรษฐกิจสีเขียว และดิจิทัล เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และการจัดตั้งดาต้า เซ็นเตอร์ ทั้งนี้ ภาคธุรกิจของไทยและสหรัฐฯ จะมีการเวิร์กช็อปร่วมกัน ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อเรียงลำดับความสำคัญ และเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่