นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แจ้งว่า กทพ. ขอเลื่อนการเปิดให้บริการด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษลุมพินี ซึ่งเป็นด่านจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษ (ด่วน) แห่งใหม่ บนทางด่วนเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) บริเวณบ่อนไก่ เชื่อมต่อกับถนนวิทยุ โดยเดิมจะเปิดวันที่ 15 มี.ค. 67 ออกไปก่อน เนื่องจากทีมเจ้าหน้าที่ กทพ. ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบความเรียบร้อยก่อนเปิดให้บริการ พบว่า ถนนรอบนอกทางด่วนบริเวณซอยปลูกจิต และซอยโปโล ที่จะเชื่อมต่อมายังด่านฯลุมพินี ยังไม่เรียบร้อยดี มีรถยนต์จอดเกะกะภายในซอย ซึ่งถนนในซอยมีขนาด 2 ช่องจราจร และต้องปรับผิวจราจรใหม่ให้มีความเรียบ ดังนั้นจึงกังวลว่าหากเปิดให้บริการด่านฯ ลุมพินีตามกำหนดการเดิม จะเกิดปัญหาจราจรติดขัดมาก และไม่สะดวกต่อผู้ใช้บริการที่จะมาใช้บริการด่านฯ ลุมพินี

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ประชุมหารือร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และโครงการ วัน แบงค็อก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ จะเข้าไปเจรจากับชาวบ้านที่จอดรถเกะกะบนถนนภายในซอย เพื่อเคลียร์รถต่างๆ รวมถึงการปรับผิวจราจรให้อยู่ในสภาพที่ดี อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการด่านฯลุมพินีได้หลังจากเทศกาลสงกรานต์เดือน เม.ย. 67 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการก่อสร้างด่านฯ ลุมพินี ขณะนี้แล้วเสร็จ 100% และได้ผ่านการพิจารณาในแง่วิศวกรรม รวมถึงความปลอดภัยแล้ว ซึ่งประเด็นทางร่วม หรือการตัดกระแสจราจรกับทางหลัก ไม่น่าจะมีปัญหาการจราจรติดขัด และเกิดอันตรายกับผู้ใช้ทาง

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับด่านลุมพินี อยู่ใกล้กับด่านฯ พระราม 4-2 (บ่อนไก่) ก่อสร้างขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรบนถนนวิทยุ และถนนพระรามที่ 4 โดยก่อสร้างอยู่ในพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และมีพื้นที่ของ กทพ. ตรงแนวเขตทางด่วนเฉลิมมหานคร ประมาณ 1.5 เมตร เพื่อเชื่อมต่อทางด่วนเฉลิมมหานคร (ขาเข้าเมือง) เข้ากับโครงการ วัน แบงค็อก โดยผ่านอุโมงค์โดยตรง และยังสามารถรับรถจากถนนวิทยุ ผ่านถนนระดับดิน เข้าสู่ทางด่วนเฉลิมมหานครได้อีกด้วย

การก่อสร้างด่านฯ ลุมพินี ดังกล่าว เป็นการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กทพ. และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่เมื่อปี 64 โดยค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างด่านฯ ลุมพินี ทางเอกชนคู่สัญญาของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ออกค่าก่อสร้างทั้งหมด ขณะที่รายได้จากการเก็บค่าผ่านทางเป็นของ กทพ. และมีเงื่อนไขด้วยว่า ต้องเป็นทางที่ประชาชนสามารถผ่านเข้ามาใช้ทางด่วนเฉลิมมหานครที่ด่านดังกล่าวได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ อัตราค่าผ่านทางด่วนของด่านฯ ลุมพินี ประกอบด้วย รถที่มีล้อไม่เกิน 4 ล้อ 50 บาท, รถที่มีล้อเกิน 4 ล้อแต่ไม่เกิน 10 ล้อ 75 บาท และรถที่มีล้อเกิน 10 ล้อ 110 บาท เช่นเดียวกับอัตราค่าผ่านทางด่วนเฉลิมมหานคร โดยด่านฯลุมพินี มีช่องเก็บค่าผ่านทางรวม 4 ช่อง เป็นแบบ MTC (เงินสด) 2 ช่อง และ ETC (easy pass) 2 ช่อง

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ด่านฯ ลุมพินี จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้มาก โดยเฉพาะประชาชนที่ใช้ถนนพระราม 4 และวิทยุ ซึ่งเดิมต้องมาขึ้นทางด่วนเฉลิมมหานคร ได้เฉพาะที่บริเวณด่านฯ พระราม 4-2 เพียงจุดเดียว แต่ในเร็วๆ นี้ จะสามารถขึ้นทางด่วนฯ โดยวิ่งตัดตรงจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย บริเวณหลังสวน และถนนวิทยุได้ ไม่ต้องอ้อมไปทางบ่อนไก่เหมือนที่ผ่านมา ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 4 รวมถึงแยกสาทร และแยกสะพานไทย-เบลเยี่ยมได้

ปัจจุบันด่านฯ พระราม 4-2 มีรถมาใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งด่านฯ ลุมพินี จะช่วยแบ่งเบาปริมาณรถที่มาใช้ด่านฯ พระราม 4-2 ได้อย่างดี โดยผลการศึกษาของ กทพ. พบว่า การมีด่านฯ ลุมพินี จะช่วยทำให้บริเวณทางแยกใต้ทางพิเศษเฉลิมมหานครตัดถนนพระรามที่ 4 ความล่าช้าลดลง 10-17% และบริเวณแยกวิทยุความล่าช้าลดลง 2-5% อีกทั้งความหนาแน่นบนช่วงถนนพระรามที่ 4 ระหว่างแยกใต้ทางพิเศษเฉลิมมหานครกับแยกวิทยุ ขาเข้าเมืองลดลง 8-10% ขาออกเมืองลดลง 3-5%.