โดยมีผู้นำทางธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ ตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ และ NGOs ทั่วเอเชียเข้าร่วมกว่า 800 รายภายในงาน และจากช่องทางออนไลน์อีกกว่า 2,000 ราย ในภาคธุรกิจที่น่าสนใจเราได้หยิบยกแนวคิดการทำธุรกิจเอสซีจี ธนาคารกรุงเทพ และมุมมองด้านนโยบายจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.

เอสซีจีผลิตปูนคาร์บอนตํ่า

เริ่มจาก “ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจีเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ใช้พลังงานมาก ถ้าเอสซีจีจะไปถึงเป้าหมาย Net Zero 2050 ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต อย่างธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน กำลังเดินหน้าปูนคาร์บอนตํ่าด้วยนวัตกรรมวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีการผลิตมาตรฐานใหม่ พร้อมส่วนผสมพิเศษที่เอสซีจีพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ ทำให้ปูนคาร์บอนตํ่า เจเนอเรชันแรก สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ 10% ปีนี้เตรียมออกปูนคาร์บอนตํ่า เจเนอเรชันที่ 2 ซึ่งลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นจากรุ่นแรก อีก 5% และจะพัฒนารุ่นต่อ ๆ ไปให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มากขึ้นเรื่อย ๆ

“มองถึงเรื่องการเข้าถึงพลังงานสะอาด การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสู่คาร์บอนตํ่าให้ได้ไว ต้องมองหาพลังงานสะอาดที่ราคาจับต้องได้ เข้าถึงง่าย ซึ่งแต่ละพื้นที่มีสิ่งที่ตอบโจทย์แตกต่างกัน”

ผลผลิตเกษตรสร้าง“นวัตกรรมกรีน”

กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ขยายความถึงแนวทางต่อว่า เทคโนโลยี มีบทบาทสำคัญมากต่อการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด สิ่งสำคัญคือ การนำเทคโนโลยีมาผสานกับจุดแข็งของแต่ละพื้นที่หรือภูมิภาค เช่น ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม สามารถนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนพืชผลเกษตรเหลือใช้ อย่างใบอ้อย ฟางข้าว ซังข้าวโพดให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทดแทนพลังงานฟอสซิล ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ควบคุมต้นทุนได้ดี เอสซีจีจึงเร่งเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นผลิตผลเกษตรยังสามารถนำมาพัฒนานวัตกรรมกรีน อย่างพลาสติกชีวภาพ ซึ่งตลาดโลกต้องการมาก ทิศทางนี้จะช่วย
ให้เราเดินหน้าธุรกิจ เศรษฐกิจ ควบคู่กับสังคม Net Zero ได้เร็วยิ่งขึ้น องค์กรจึงควรลงทุนและสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีกับทุกภาคส่วน

“เราพร้อมร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืนในเอเชียและทั่วโลก เพื่อสร้างสังคม Net Zero ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมกรีน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามแนวคิด ‘Passion for Inclusive Green Growth’ ของเอสซีจี” ธรรมศักดิ์ ทิ้งท้ายถึงความมุ่งมั่นของเอสซีจี

แหล่งทุนสร้างธุรกิจสีเขียว

แหล่งทุนมีบทบาทสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดธุรกิจสีเขียว ไม่ว่าการสนับสนุนเงินทุนในการสร้างพลังงานสีเขียว ตราสารหนี้สีเขียว ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลล้วนใช้เงิน “ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า ธนาคารสามารถสนับสนุนได้ใน 3 ด้าน 1.ธนาคารสามารถให้ความรู้ลูกค้าเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านความยั่งยืนระดับโลก ขนาดของบริษัทที่แตกต่างกัน จะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นการเดินทางที่ยาวนานต้องอาศัยวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจร่วมด้วย 2. การจัดหาเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ อาทิ พลังงานทดแทน การจัดหาเงิน
ทุนเพื่อโซลาร์เซลล์ การบำบัดของเสียและนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ และ 3. การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ให้ลูกค้า เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน

“เครื่องมือทางการเงินอย่างการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องมือที่ถูกแนะนำให้กับลูกค้าในภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ พลังงานทดแทน และการแปลงเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นต้น นอกจากนี้เรายังมีตราสารหนี้สีเขียว ดัชนีตราสารหนี้ในความยั่งยืน เราเป็นผู้นำในด้านนี้มาเป็นเวลา 4 ปี และจะมีการนำเสนอเพิ่มเติมอีกในปลายปีนี้” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าว

ชูสระบุรีเมืองคาร์บอนตํ่าแห่งแรก

อย่างไรก็ตามในภูมิภาคเอเชีย ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงคาร์บอนเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับชาติตะวันตก จึงเป็นเรื่องท้าทายในการถูกจัดอันดับประเทศในการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แต่ละอุตสาหกรรมมีความท้าทายที่แตกต่างกันออกไปในด้านของการลดคาร์บอน ซึ่งค่อนข้างยากในการแก้ปัญหา และต้องการเทคโนโลยีและเงินทุนเข้ามาช่วย ในประเทศไทยเรามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยจังหวัดสระบุรีจะกลายมาเป็นเมืองคาร์บอนตํ่าแห่งแรก ท้ายที่สุดแต่ละภาคส่วนต้องทำงานเพื่อหาทางแก้ไข ในแต่ละภาคส่วน และเดินหน้าต่อไปรับกับความท้าทายที่มีมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทขนาดใหญ่ได้กำหนดเป้าหมายในการรักษาสมดุลระหว่างความยั่งยืน และผลกำไร สำหรับบริษัทขนาดเล็กถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับการเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้จากเรื่องดังกล่าว ซึ่งสิ่งจูงใจบางอย่าง สามารถช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนได้

ลงทุนอาเซียนต่อนี้ไปสู่ความยั่งยืน

ทั่วโลกมองประเด็น ESG ทุกอย่างเป็นเรื่องการเมือง การพัฒนาทางภูมิศาสตร์ทางการเมืองในปัจจุบันกับความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนจึงส่งผลต่ออาเซียน ชาติศิริ ให้ความเห็นว่า ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนเท่านั้น ข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครนยังส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้เช่นกันเนื่องจากเป็นการทำให้ราคาของสูงขึ้น แต่ก็ยังมีโอกาสที่ดีในด้านต่าง ๆ อยู่ อาทิ การลงทุนในพลังงานทดแทน กลยุทธ์ทางธุรกิจอย่าง China Plus One จะนำไปสู่การลงทุนใหม่และข้อกำหนดของ ESG ใหม่ การกระจายความเสี่ยงแบบนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของธุรกิจได้ อย่างไรก็ตามสำหรับในอาเซียนการลงทุนใหม่นั้นจำเป็นต้องมาพร้อมแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ทั้งในส่วนของบริษัทและภาครัฐ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติด้านความยั่งยืน

“ชาติศิริ” กล่าวทิ้งท้ายว่า ความท้าทายของธนาคารและลูกค้า อันดับแรก คือการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดด้านความยั่งยืน สิ่งนี้เป็นเทรนด์โลกจำเป็นต้องจัดการวิธีการวางแผนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระเบียบ โดยมีข้อกำหนดทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นไปได้ เรื่องสองคือสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ในแต่ละขั้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเดินทางไปในเส้นทางนี้

ธปท.หนุนการเงินปรับตัวสิ่งแวดล้อม

ด้านมุมมองผู้ดูแลนโยบาย และกำกับสถาบันการเงิน “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ระบุว่า ธปท. ได้ผลักดันให้ภาคการเงินสนับสนุนภาคเอกชนให้ปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ที่จะช่วยให้ไทยปรับตัวได้อย่างยั่งยืน A B C ได้แก่ Alignment คือ เป้าหมายและแผนการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน Balance คือ การรักษาสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนา เพื่อรับมือกับอนาคต Collaboration คือ การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

ทั้งนี้ ธปท. มีบทบาทที่เป็นฝ่ายสนับสนุน คาดหวังให้ธนาคารพาณิชย์ ดำเนินการใน 2 ด้าน มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่การลดกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (less brown activities) คาดว่า ช่วงต้นไตรมาส 3 ปี 67 จะเห็นแผนการออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และสถาบันการเงินกลุ่ม D-SIBs เริ่มจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านสำหรับ priority sector อย่างน้อย 1 sector ภายในปี 68

“จุดนี้เป็นจุดที่ไทยแตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มุ่งเน้นการจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านก่อน เนื่องด้วยบริบทของไทย ภาคเอกชนมีความตระหนักและความพร้อมในการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ดังนั้นการมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวอย่างที่ตอบโจทย์การปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมในบริบทไทยจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเริ่มปรับตัว และสามารถขยายผลเป็นวงกว้างขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี”

บทบาท foundation ธปท. มีความคืบหน้าสำคัญในการออกแนวนโยบายให้สถาบันการเงินผนวกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการดำเนินธุรกิจ และร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทยจัดทำ industry handbook เพื่อใช้อ้างอิงแนวปฏิบัติ และร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดทำ Thailand Taxonomy (มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย) ระยะที่ 1 สำหรับภาคพลังงานและการขนส่ง แล้วเสร็จในปีที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างจัดทำ Taxonomy ระยะที่ 2 สำหรับภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงในพอร์ตของตนได้อย่างเป็นระบบ

“ในอนาคตความท้าทายสำคัญ คือ การจัดเก็บข้อมูลชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนให้ภาคเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกันและเกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงมีนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน”.

ทีม Sustainable daily
[email protected]