สำนักข่าวซินหัวรัวรายงานจากเมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ว่า “ความสอดประสานของการอยู่ร่วมกัน – นิทรรศการศิลปะจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (“Symphony of Coexistence – Chinese and Southeast Asian Art Invitational Exhibition”) เป็นชื่อของนิทรรศการศิลปะ ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลป์แห่งสถาบันวิจิตรศิลป์เสฉวน เทศบาลนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เปิดฉากเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา และเป็นเวทีที่ทำให้ผลงานของศิลปินชาวไทย ได้เฉิดฉายในจีน


หนึ่งในนั้นคือ “กวางสยามตัวสุดท้าย” ผลงานของนายสาครินทร์ เครืออ่อน เมื่อเดินเข้าสู่นิทรรศการ จะเห็นหัวกวางตั้งอยู่บนโต๊ะคลาสสิก กำแพงด้านข้างเป็นภาพวาดทิวทัศน์ประเทศไทย ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นวิดีโอสัมภาษณ์เกี่ยวกับตำนานกวางสยาม อันเป็นการนำเสนอประวัติศาสตร์ของไทย ผ่านวิธีการทางศิลปะ


งานนี้จัดแสดงผลงานศิลปะรูปแบบต่าง ๆ ของศิลปินชาวจีน ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ รวม 41 คน เป็นจำนวนเกือบ 100 ชิ้นงาน อาทิ ภาพวาดสีน้ำมัน การพิมพ์ 3 มิติ สื่อบูรณาการ วิดีโอ 4เค ที่ถูกนำเสนออย่างน่าสนใจ ผ่านแรงบันดาลใจที่สะท้อนสุนทรียศาสตร์ทางศิลปะ ซึ่งหลอมรวมความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน


ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงหลายคนได้นำผลงานเด่น มาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ อย่างผลงาน “ภูเก็ต 2016” ของอเล็กซ์ เฟซ ศิลปินกราฟฟิตี้ผู้สร้างหุ่นจำลอง “มาร์ดี” (Mard i) เด็กน้อย 3 ตากับชุดมาสคอตกระต่าย โดยใช้รูปแบบของศิลปะสัจนิยม ในการสะท้อนถึงปัญหาทางสังคมของไทย

นอกจากนี้ ยังมีผลงานภาพพิมพ์อิงก์เจ็ต “ท้องนา” ของนายอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล พื้นที่ทุรกันดารในความมืดมิด กับกองไฟส่องสว่าง และท้องฟ้ายามค่ำคืนอันเงียบสงบ ทำให้ภาพมีมิติอย่างมาก ตลอดจนผลงาน “มีสติ” (stay sane) ของก้องกาน หรือ นายกันตภณ เมธีกุล สื่อสารถึงความปรารถนาโลกที่มีความสุข และน่าพึงใจของผู้คน

ผลงาน “มีสติ” ของก้องกาน ศิลปินชาวไทย จัดแสดงในนิทรรศการ “ความสอดประสานของการอยู่ร่วมกัน” นิทรรศการศิลปะจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน


เหอกุ้ยเยี่ยน หนึ่งในผู้ดูแลนิทรรศการ และผู้อำนวยการหอศิลป์ กล่าวว่า นิทรรศการครั้งนี้ มีทั้งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม นวัตกรรมทางศิลปะ และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม อีกทั้งแสดงถึงความหลากหลายของผลงาน และสื่อความหมายของโลก ที่ความหลากหลายดำรงอยู่ร่วมกัน อันเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสังคมมนุษย์ที่ปรองดอง ผู้คนสามารถก้าวข้ามพรมแดนทางภูมิศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรมด้วยพลังแห่งศิลปะ


นายอภินันท์ โปษยานนท์ ที่ปรึกษาของนิทรรศการ ซีอีโอและผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ ของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กล่าวว่า แผนริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อทั้งเอเชียและทั่วโลก นอกจากด้านเศรษฐกิจและการค้า ก็ยังมีด้านวัฒนธรรม


นิทรรศการนี้ สร้างเวทีการแลกเปลี่ยนระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ทั้งสองฝ่ายได้การเรียนรู้อารยธรรมร่วมกัน ซึ่งตนก็สนใจในผลงานของศิลปินชาวจีนเช่นกัน เช่น “ค่ำคืนอันเงียบงัน” ของ ผางเม่าคุน ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นจากฉากบนท้องถนนยามค่ำคืน ระหว่างทางกลับบ้านของเขาจากที่ทำงานในทุกวัน แสดงว่า ศิลปินกำลัง “ครุ่นคิดถึงช่วงเวลาอันสงบสุขในยามวิกาล”

ส่วนผลงาน “ศูนย์การเงินแห่งชาติในอุดมคติ” ของ เจียวซิ่งเทา ประกอบหุ่นจำลองไฟเบอร์กลาส ที่เหลือจากโรงงานขึ้นมาใหม่ และเมื่อประกอบรวมกับลูกบอลชายหาด และผนังสีชมพู จึงกลายเป็น “สรวงสวรรค์ในอุดมคติ” ของคนรุ่นใหม่


ทั้งนี้ รายงานระบุว่านิทรรศการดังกล่าว จะจัดจนถึงวันที่ 5 พ.ค. นี้ นับเป็นหนึ่งในโครงการเชิงวิชาการที่สำคัญของ “ปีแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน-อาเซียน” ประจำปี 2567 และจัดพร้อมกับการสัมมนาวิชาการ ซึ่งมีนักวิชาการจากนานาประเทศ มาหารือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และความร่วมมือระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA