เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สรุปภาพรวมสถานการณ์โควิดประเทศไทย อยู่ในช่วงขาลง แต่ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ยังเหวี่ยงอยู่ระหว่างหลักหมื่นกับหลักพันรายต่อวัน หากดูกราฟตัวเลขของทั้งประเทศพบพื้นที่กทม. และภูมิภาคอื่นๆ ติดเชื้อลดลง แต่กราฟการติดเชื้อภาคใต้เพิ่มขึ้น และเป็นตัวที่ทำให้อัตราการติดเชื้อในภาพรวมของประเทศสูง ขณะนี้กำลังเร่งควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ หากลดการติดเชื้อลงได้จะทำให้ภาพรวมทั้งประเทศลดลงด้วย

นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 12 ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย พัทลุง ตรัง นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา สตูล กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ พบลักษณะการระบาดตามหลังสถานการณ์ กทม. 2 เดือน โดยเริ่มมีการติดเชื้อมากขึ้นช่วงเดือน ส.ค. และเป็นการติดเชื้อในครอบครัว ที่น่ากังวลคือวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ มีกิจกรรมรวมกลุ่มประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ

“ตอนนี้เราทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่หากฉีดวัคซีนกันเยอะ ครอบคลุมอย่างน้อย 70% จะเปิดให้ละหมาดร่วมกันได้ เพราะตอนนี้เราห้ามหมดหากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เดินทางไปไหนไหนมาไหนก็สะดวก” นพ.สุเทพ กล่าวพร้อมระบุว่า ตั้งเป้าลดอัตราการติดเชื้อให้ได้ 10% ทุกสัปดาห์เพื่อทำให้สถานการณ์คลี่คลายก่อนปีใหม่

ผู้ตรวจเขตฯ 12 กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องสายพันธุ์ของไวรัสโควิดที่ระบาดในพื้นที่ภาคใต้นั้นแตกต่างจากภาพรวมของประเทศที่การระบาดส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แต่ในภาคใต้ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 58% เดลตา 38% สายพันธุ์นี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่เดินทางกลับจากพื้นที่ กทม. อยู่แถวจังหวัด ตรัง, พัทลุง, สตูล เป็นต้น ที่เหลือเป็นสายพันธุ์เบตา (แอฟริกา) ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้แม้เจอเชื้อ 3 สายพันธุ์ แต่ยังไม่พบสัญญาณกลายพันธุ์อย่างที่หลายฝ่ายเป็นห่วง.