สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ NASA ศึกษาปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย ภายใต้โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality หรือ ASIA-AQ เพื่อเก็บตัวอย่างอากาศเหนือน่านฟ้าของประเทศไทย และเพื่อทำความเข้าใจกับต้นตอปัญหาฝุ่น PM 2.5 สู่แนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวของประเทศไทย และนับเป็นความโชคดีของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้มีอาจารย์จาก ม.อ. เข้าร่วมภารกิจในครั้งนี้ด้วย นั่นคือ ดร.โฉมศรี ชูช่วย อาจารย์ประจำคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 16-26 มีนาคม 2567 ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จ.ระยอง

ดร.โฉมศรี ชูช่วย กล่าวว่า NASA พยายามจะเข้ามาเก็บตัวอย่างคุณภาพอากาศในประเทศไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ภารกิจในครั้งนั้นล้มเหลวไป มาครั้งนี้ GISDA กับ NARIT เป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในประเทศไทย ส่วนตัวทำเรื่องเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศอยู่แล้ว เลยได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ ASIA-AQ ปัจจุบันนักวิจัยสามารถเก็บตัวอย่างได้ในระดับของ Ground level (ระดับพื้นดิน) กับชั้นดาวเทียมที่เป็น Satellite เท่านั้น แต่องค์ความรู้ที่เรายังขาดอยู่คือชั้นตรงกลาง จึงเป็นโอกาสดีที่ทาง NASA ได้นำเครื่องบิน DC-8 ซึ่งถือเป็นเครื่องบินแล็บลอยฟ้าใหญ่ที่สุดในโลก มาทำการบินเหนือน่านฟ้าของประเทศไทย ตั้งแต่สนามบินอู่ตะเภาไปจนถึง จ.เชียงใหม่ นั่นหมายความว่าองค์ความรู้ที่เรายังขาดอยู่ จะถูกเติมเต็มโดยข้อมูลจากเครื่องบิน DC-8 ที่จะให้ข้อมูลในเชิงองค์ประกอบทางเคมีที่มีอยู่หลากหลายชนิด และในส่วนของเครื่องบิน G-III ก็จะทำให้ได้ภาพแผนที่มลพิษทางอากาศครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร

ดร.โฉมศรี กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเรามีการสำรวจแบบ Ground level และ Satellite นั่นคือข้อมูลที่เรามี ดังนั้น เมื่อเรามีการบินสำรวจชั้นบรรยากาศเพิ่มเข้ามา จะทำให้ได้ข้อมูลหรือองค์ความรู้ที่ขาดหายไปมาเติมเต็ม และจะทำให้การพัฒนาโมเดลในการคาดการณ์มลพิษทางอากาศมีความแม่นยำมากขึ้น ส่งผลต่อการวางนโยบาย เช่น หากว่าช่วง 2-3 วันข้างหน้า มีโอกาสจะเจอมลพิษเพิ่มขึ้น เราก็จะได้มาจัดการว่าควรจะทำอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงหรือทำให้ประชาชนไม่เผชิญกับมลพิษทางอากาศดังกล่าว จนมีปัญหาส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคตได้

“โดยรวมแล้วคุณภาพอากาศในประเทศไทย อยู่ในระดับปานกลางถึงอากาศไม่ดี ซึ่งก็ขึ้นอยู่ในแต่ละช่วงเวลาด้วย โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่เห็นได้ชัดว่า คุณภาพอากาศในประเทศไทยค่อนข้างที่จะแย่ เมื่อเทียบกับ 10 กว่าปีที่แล้ว ที่สังเกตได้ชัดเจนเลยว่าคุณภาพอากาศบ้านเราไม่ดี คือถ้าไปดูพวกการจัดลำดับคุณภาพอากาศทั่วโลก ประเทศไทยทั้งกรุงเทพมหานคร จ.เชียงใหม่ ฯลฯ จะขึ้นอันดับ 1 อันดับ 2 อยู่ประจำ นั่นหมายความว่าอากาศบ้านเรามันไม่ดีจริง ๆ ซึ่งปัจจัยสำคัญก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากพฤติกรรม และการใช้ชีวิตของเรา ทั้งไอเสียที่มาจากการใช้ยานยนต์ การเผาทั้งในที่โล่งและพื้นที่การเกษตร และอีกหนึ่งปัญหาที่เรามองข้ามไม่ได้เลย นั่นคือการเกิดมลพิษข้ามพรมแดน”

อาจารย์ประจำคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การเข้าร่วมโครงการ ASIA-AQ ของ NASA ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และตัวนักวิจัยเอง ได้รับความร่วมมือทั้งระดับชาติ และนานาชาติ เพราะได้เจอนักวิจัยเก่ง ๆ จากทั่วโลกที่มากับ NASA ซึ่งอาจมีความร่วมมือกันอีกได้ในอนาคต รวมถึงความร่วมมือในประเทศไทยเอง ซึ่งในครั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยน พูดคุยถึงงานวิจัยที่จะทำร่วมกันในอนาคตด้วย ดังนั้น ม.อ. เอง ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปมีบทบาทในการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกับมลพิษทางอากาศ ถึงแม้ว่าภาคใต้จะไม่ค่อยเผชิญกับมลพิษทางอากาศเท่ากับภาคเหนือ หรือภาคกลาง แต่ก็ถือว่าได้รับเกียรติมาก ๆ ที่ให้เข้าไปร่วมมีบทบาทในครั้งนี้