เมื่อวันที่ 5 เม.ย.พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการชี้แจงญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ว่า ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คือ “เรียนดี มีความสุข” มุ่งเน้นการลดภาระครูนักเรียนและผู้ปกครองนั้น ศธ. ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนี้การปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ Digital Performance Appraisal : DPA โดยนำระบบดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการประเมินทุกขั้นตอน ช่วยลดปริมาณเอกสาร (paperless) และสร้างระบบการประเมินที่ทันสมัย รวดเร็ว ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยได้นำหลักเกณฑ์ วPA มุ่งเน้นการลดภาระงานและเอกสารซึ่งพบว่าการดำเนินการที่ผ่านมา ได้มีการใช้เวลาในการดำเนินการเร็วขึ้น ทำให้สามารถประเมินวิทยฐานะได้เร็วสุดหลังจากยื่นผลงาน 17 วัน และค่าเฉลี่ยการประเมินคือสองเดือนกว่า ทั้งยังเป็นการปิดช่องทางการทุจริตและลอกเลียนแบบผลงานทางราชการ

ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น – ได้มีการจัดทำระบบย้ายครูคืนถิ่น จัดทำระบบการย้ายสับเปลี่ยน ผ่านระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (Teacher Matching System : ระบบ TMS) โดยมี สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำระบบดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนให้ครูกลับภูมิลำเนาแล้ว ยังถือเป็นการลดการทุจริตเพราะครูสามารถตรวจสอบกระบวนการย้ายในระบบได้ แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งได้จัดตั้งให้ รมช.ศธ. เป็นประธานคณะทำงาน นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินแล้ว ศธ. มุ่งเน้นการยกระดับความรู้และทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเป้นการป้องกันปัญหาต่อไป

จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ โดย ศธ. ต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งได้มีการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลในโรงเรียนคุณภาพ พร้อม การเช่าระบบคลาวด์ และการเช่าเครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียน ยกเลิกครูเวร โดย ศธ. มีแนวคิดว่า ชีวิตและความปลอดภัยของครูสำคัญกว่าทรัพย์สิน จึงได้ขอมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ให้ยกเลิก “ครูอยู่เวร” ซึ่งถือเป็นการพิจารณาในเรื่องของการป้องกันรักษาความเสียหายจากเหตุภัยอันตรายในชีวิตและร่างกายครู พร้อมขอความร่วมมือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสถานศึกษา

จัดหานักการภารโรง สำหรับปี 2567 ศธ. ได้มีการของบกลางกว่า 639,450,000 บาทในการจัดจ้างนักการภารโรงเพื่อครอบคลุมโรงเรียนที่ขาดแคลนนักการภารโรงกว่า 14,210 อัตรา สำหรับปี 2568 ครม. ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติเงินกว่า 2,739,960,000 บาท เพื่อจัดจ้างนักการภารโรงจำนวน 25,370 อัตรา ให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนนักการภารโรงทั่วประเทศ ปรับลดงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน ลดภาระการประเมินของสถานศึกษา รวมถึงลดละเลิก โครงการ กิจกรรมตัวชี้วัดที่ซ้ำซ้อน เพื่อลดภาระครู ให้ครูมีเวลาในการจัดการเรียนการสอนแก่เด็กนักเรียนมากยิ่งขึ้น

นอกจากจะมุ่งเน้นการลดภาระครูแล้ว ศธ. ยังได้มุ่งเน้นการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ดังนี้ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ให้แต่ละอำเภอมีโรงเรียนคุณภาพ เปรียบเป็นโรงเรียนแม่ข่าย สนับสนุนโรงเรียนในเครือข่าย โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายมาใช้ทรัพยากรในโรงเรียนแม่ข่ายได้ .ระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต เป็นการแนะนำเป้าหมายชีวิตให้นักเรียน อบรมพัฒนาศักยภาพครูในการส่งเสริมสุขภาพจิตนักเรียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการลดการบูลลี่ในโรงเรียน การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบวิชาชีพ จัดตั้งศูนย์ทดสอบ ศูนย์ประเมินมาตรฐานฝีมือองค์กร เพื่อรับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพหรือมาตรฐานสากลในสถานศึกษา การจัดทำระบบวัดผล เทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาในระบบ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) พัฒนาทักษะและสมรรถนะวิชาชีพกำลังคนตามบริบทของสถานศึกษา โดยเฉพาะนักเรียนที่เรียนในรูปแบบด้านอาชีวศึกษา อนุมัติงบอาหารกลางวันแก่โรงเรียนขยายโอกาส ซึ่ง ครม. ได้มีมติอนุมัติงบอาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาสทุกสังกัด รวมจำนวนนักเรียนกว่า 575,938 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 2.9 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ศธ. ได้มีการดำเนินงานในส่วนของความท้าทายเกี่ยวกับทางการศึกษา ดังนี้ การดำเนินการพัฒนาผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลของเด็กไทย หรือ PISA ศธ. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานในการขับเคลื่อนการประเมิน PISA โดยได้จัดตั้งโรงเรียนที่มีผลการประเมินที่ดี ให้มาเป็นโรงเรียนพี่เลี้ยง พร้อมจัดกิจกรรมและการอบรมความรู้เกี่ยวกับ PISA ต่างๆ ให้แก่คุณครู เพื่อให้คุณครูได้ถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับแก่เด็กนักเรียนต่อไป นอกจากนี้ ยังให้นักเรียนฝึกทำโจทย์และแบบทดสอบในปีก่อนๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยในการทำข้อสอบ การยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่ง ศธ. ได้เห็นว่าการยกระดับการเรียนภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญ โดยได้ขับเคลื่อนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการจัดกิจกรรมในการพัฒนาภาษาอังกฤษแก่ครูและศึกษานิเทศก์

ด้านนายสุรศักดิ์ กล่าวว่า จากกรณีที่มีข้อสงสัยถึงการจัดจ้างนักการภารโรงนั้น ศธ. ได้เสนอขอความเห็นชอบในหลักการจ้างนักการภารโรงให้ครบทุกโรงในลักษณะผูกพันต่อเนื่อง 3 ปี พ.ศ. 2568 – 2570 ซึ่งการจ้างนักการภารโรงดังกล่าวจะเป็นการลดภาระของครูผู้สอน ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติการใช้เงินดังกล่าวในงบประมาณปี 2568 รวมเป็นเงินกว่า 2,739,960,000 บาท ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเสนอมติผ่านมาที่สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ซึ่งหวังว่าจะได้รับการเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 ที่ ศธ. ได้ทำการของบประมาณเพิ่มเติมไปที่สภาผู้แทนราษฎรนั้น ไม่ได้รับการอนุมัติ จึงได้ทำเรื่องของบกลางดังกล่าวแก่ ครม. อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่เปิดภาคการศึกษาในเดือน พฤษภาคม – กันยายน 2567 โดยรวมเป็นงบประมาณกว่า 639,450,000 บาท เพื่อครอบคลุมโรงเรียนที่ขาดแคลนนักการภารโรงกว่า 14,210 อัตรา โดยจะทำการของบประมาณดังกล่าวทุกๆ ปี เพื่อให้งบประมาณครอบคลุมตำแหน่งนักการภารโรงที่ขาดแคลน ทั้งนี้ ในส่วนการขออนุมัติงบประมาณอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน นั้น ศธ. ไม่ได้นิ่งนอนใจในการสนับสนุนงบประมาณให้เพียงแต่นักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 เท่านั้น แต่ยังคิดจัดสรรงบฯ เพื่อครอบคลุมไปถึงนักเรียนในทุกโรงเรียนและทุกระดับชั้น อย่างไรก็ตาม การเสนอของบประมาณให้แค่เพียงนักเรียนขยายโอกาสในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ถือเป็นการนำร่อง เพื่อให้ครูได้ทดลองจัดสรรงบประมาณที่ได้รับ เพื่อให้แน่ใจว่าการจัดสรรอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน จะไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับครู เพื่อเน้นการคืนครูให้ห้องเรียน

รมช.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการยกเลิกเวรครูนั้น ศธ. ตั้งใจที่จะให้ยกเลิกการให้ครูอยู่เวรอย่างถาวร เพื่อทำให้ครูมีเวลาในการเตรียมการสอน พัฒนาตัวเอง และให้นักเรียนมากยิ่งขึ้น โดยขอขอบคุณคณะรัฐมนตรีทุกท่านที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของครูมากกว่าทรัพย์สินของโรงเรียน ทั้งนี้ ได้มีการประสานขอความร่วมมือจากฝ่ายปกครองประจำท้องถิ่นเพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษา โดย ศธ. ตั้งใจจะติดตั้งกล้องวงจรปิด และซ่อมแซมห้องที่เก็บทรัพย์สินมีค่าให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น
สำหรับการพิจารณาจัดตั้งโรงเรียนคุณภาพ ศธ. ได้มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากการที่โรงเรียนมีสถานที่กว้างเพียงพอ ตั้งอยู่ในสถานที่ ๆ นักเรียนและคุณครูสามารถเดินทางไปมาได้อย่างสะดวก เพื่อให้เด็กในโรงเรียนขนาดเล็กกว่าหรือโรงเรียนเครือข่ายมาร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ เป็นการเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษา ลดความแออัดของนักเรียนในโรงเรียนประจำจังหวัดต่อไป ในตอนท้าย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ภายใต้การกำกับของ ศธ. ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวแก่โรงเรียนขนาดเล็ก โดยจะคำนวณจากค่าใช้จ่ายประจำวันของโรงเรียน อาทิ ค่าอุปโภค บริโภค เพื่อหาค่าเฉลี่ยจากโรงเรียนทั้งประเทศ ซึ่งจะพิจารณาจัดสรรเงินตั้งต้นให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กไปก่อน และจะส่งเงินอุดหนุนรายหัวให้อีก โดยจะพิจารณาเสนอเรื่องดังกล่าวแก่ ครม. ต่อไป