สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ว่า นางวาเนสซา ฟราเซียร์ เอกอัครราชทูตมอลตาประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งทำหน้าที่ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ประจำเดือน เม.ย. กล่าวว่า จะมีการพิจารณาเอกสารการสมัครเป็นสมาชิกสหประชาชาติของปาเลสไตน์ ภายในเดือนนี้


อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นความพยายามครั้งที่สอง ต่อจากเมื่อปี 2554 มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับการคัดค้านของสหรัฐ ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซี และมีอำนาจวีโต้ โดยนางลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเอ็น กล่าวว่า จุดยืนของสหรัฐในเรื่องนี้ “ยังไม่เปลี่ยนแปลง” แต่รัฐบาลวอชิงตันสนับสนุนการแสวงหาหนทางสันติภาพ ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ภายใต้แนวทางสองรัฐ


ด้านนายกิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำยูเอ็น แสดงความไม่พอใจอย่างหนัก และประณามยูเอ็นเอสซี “ให้ความสำคัญ” กับเรื่องของ “นาซีปาเลสไตน์” มากกว่าการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส


ทั้งนี้ เนื้อหาบางส่วนของจดหมายที่มานซูร์ยื่นต่อเลขาธิการยูเอ็น ระบุด้วยว่า สงครามที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา ซึ่งกองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮามาส สู้รบยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566 ยิ่งเป็นการบ่งชี้ว่า การมีสถานะสมาชิกยูเอ็นอย่างเต็มรูปแบบ มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับปาเลสไตน์ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ ตั้งแต่ปี 2555


อนึ่ง การยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกสหประชาชาติของปาเลสไตน์ เมื่อปี 2554 ไม่เคยเข้าสู่ที่ประชุมยูเอ็นเอสซี นำไปสู่มติของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) อนุมัติสถานะผู้สังเกตการณ์ให้แทน โดยสหรัฐและอิสราเอลคัดค้าน


สำหรับขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกยูเอ็นตามหลักการนั้น ต้องได้รับการสนับสนุนจากยูเอ็นเอสซีก่อน แล้วจึงส่งเข้าสู่การลงมติของยูเอ็นจีเอ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 จากสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ.

เครดิตภาพ : AFP