ผศ.ดร.สุทิศา รัตนวิชา กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อเย็นวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ตนและทีมงานวิชาการได้เข้าประชุมหารือกับ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรทางเทคโนโลยี 1 และทีมงานนายตำรวจสังกัด ณ ห้องประชุมกองบังคับการฯ ศูนย์ราชการ เพื่อวางแนวทางการประสานงานร่วมกันและกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามแก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจาก กตป.เป็นกลไกในการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ซึ่ง กสทช.มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งเอไอเอสและทรูกับดีแทค

ผศ.ดร.สุทิศา กล่าวว่า ได้รับทราบการดำเนินงานของตำรวจไซเบอร์ที่ทุ่มเทการทำงานอย่างจริงจังตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้ปราบปรามขบวนการมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างจริงจัง ให้เวลา 30 วันซึ่งจะไปสิ้นสุดในปลายเดือนเมษายนนี้ จากสถิติในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนมีนาคม พบว่ามีคดีเกี่ยวกับออนไลน์มากถึง 461,044 คดี เงินไหลออกไปจำนวน 63,575,680,974 บาท ตำรวจไซเบอร์รับแจ้งความและทำคดีเกี่ยวกับการหลอกซื้อสินค้าไม่ตรงปก หลอกให้ลงทุน หลอกให้กู้เงิน และอื่นๆ โดย 1 วัน ประชาชนเสียหายในคดีออนไลน์เฉลี่ยวันละ 100 ล้านบาท แก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ในประเทศกัมพูชาเป็นหลัก และแก๊งคนจีนที่อยู่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน การสืบสวนสอบสวนเพื่อจับกุมคนร้ายเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเพราะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ที่สำคัญ ตำรวจไซเบอร์ต้องได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากค่ายบริษัทโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งธนาคาร ที่ผ่านมาการขอข้อมูลผู้เปิดบัญชีจากธนาคารเป็นไปด้วยความยากลำบาก อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนก็มีจำนวนน้อย เทียบไม่ได้กับจำนวนคดีที่มีจำนวนมาก ทำให้ตำรวจจำนวนหนึ่งเกิดความเครียดจนอยากจะลาออกจากราชการ ผู้บังคับบัญชาต้องขอร้องและคอยให้กำลังใจขอให้อดทน

กตป.ด้านกิจการโทรคมนาคมกล่าวต่อไปว่า หากบริษัทค่ายมือถือและธนาคารให้ความร่วมมือกับตำรวจอย่างเต็มที่ การไล่ล่าควานหาต้นตอเพื่อนำไปสู่การจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง กสทช.ควรจะเข้มงวดกับค่ายมือถือ รวมทั้งธนาคารให้ความร่วมมือกับตำรวจไซเบอร์ ยอมปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ เพราะไม่เช่นนั้น ข้อสั่งการของรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงดีอีก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ

“เวลาที่เหลืออีก 20 วันจะครบ 1 เดือน จะเป็นการพิสูจน์ฝีมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเอาจริงเอาจังและมีประสิทธิภาพแค่ไหน ทั้งนี้ ผลของงานในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะเป็นคำตอบว่า หน่วยงานนั้นๆ ให้ความร่วมมือมากน้อยเพียงใด อะไรคือปัญหาและอุปสรรค ถึงตอนนั้น เชื่อว่ารัฐบาลโดยนายกฯ เศรษฐาและรัฐมนตรีประเสริฐคงจะพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป” ผศ.ดร.สุทิศากล่าว..