เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 11 เม.ย. ที่ศูนย์บริหารจัดการจราจรและอุบัติเหตุกรมทางหลวง (Highway Traffic Operations Center : HTOC) กรมทางหลวง ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อนายทุนมากกว่าประชาชน เนื่องจากหลายบริษัทมีการจัดโปรโมชั่นให้กับลูกค้าอยู่แล้ว ว่า ตนเรียนอย่างนี้ การเอื้อนายทุนเราต้องดูให้ครบ หลายรัฐบาลในอดีตก็มีการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการตรวจสอบได้  และผ่านหลายกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา และข้อคิดเห็นจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขอเรียนว่าเรื่องอสังหาริมทรัพย์  ถ้าดูในแง่ของเศรษฐกิจโดยรวม สมมุติว่าถ้าคนซื้อบ้าน 1 หลังเขาจะซื้ออะไรบ้าง ซื้อพรม กระจก ประตู สุขภัณฑ์ แอร์ เฟอร์นิเจอร์และอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งทำให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลในทางที่ดี และเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ ก็ถือเป็นการออมอย่างหนึ่ง และไม่ใช่เรื่องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่คนที่จะสร้างบ้านเอง ก็จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย 

เมื่อถามว่า ประชาชนที่จะตัดสินใจซื้อจะทำได้ยากหรือไม่ เพราะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ถือว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่กดกำลังซื้ออยู่ ตนก็ไม่อยากไปต่อล้อต่อเถียง เพราะตนคิดว่าจุดยืนของตนชัดเจนเรื่องการลดดอกเบี้ย เดี๋ยวเขาจะหาว่าตนไปกดดัน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีก เพราะท่านมีความเป็นอิสระ แต่ก็ฝากไว้แล้วกันว่าความเป็นอิสระ ไม่ใช่ความอิสระจากความลำบากของประชาชน ท่านต้องคำนึงถึงความลำบากของประชาชนด้วย วันนี้ตนไม่ได้กดดันอะไรแล้ว และเมื่อผลที่ออกมา ขอให้ประชาชนเป็นคนตัดสินเอง ว่าควรจะต้องลดหรือไม่ต้องลด นักวิชาการเกือบทั้งหมดตอนนี้ ก็เห็นด้วยว่าต้องลดอัตราดอกเบี้ย ตนเชื่อว่าหากลดดอกเบี้ย ผลข้างเคียงทางเศรษฐกิจ จะเป็นบวกมากกว่าลบ ไม่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้น เราเพิ่งการส่งออก 60% ของจีดีพี และการท่องเที่ยวอีก 20%  1 ดอลลาร์ สามารถแลกได้ 36, 37, 38 บาท ทำให้มีเงินจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น

นายกฯ กล่าวต่อว่า ซึ่งนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้อยู่แต่โรงแรมใหญ่ๆ หรือเอื้อแต่เจ้าสัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของการชอปปิง มารับประทานอาหาร ทุกคนได้ประโยชน์หมด ตนเชื่อว่าเป็นเศรษฐศาสตร์พื้นฐานที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว ตนไม่รู้จะพูดอย่างไรต่อไป เพราะตนพูดมาเยอะแล้ว และพูดมาพอแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคนอื่นที่จะพูดบ้าง.