สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ว่าการละเมิดสิทธิลูกจ้างในประเทศ เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังรัฐบาลเริ่มสำรวจสถิติการร้องเรียนในปี 2562

กระทรวงแรงงานระบุว่าได้รับเรื่องร้องเรียน 10,028 เรื่อง ในปี 2566 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 12 จากปี 2565 ซึ่งมีทั้งหมด 8,961 เรื่อง

ในปี 2562 เกาหลีใต้แก้ไข “พ.ร.บ.มาตรฐานแรงงาน” มาตรา 76-2 และ 76-3 เกี่ยวกับการห้ามล่วงละเมิดในที่ทำงาน และมาตรการจัดการที่เหมาะสม ในช่วงครึ่งปีหลัง มีรายงานเข้ามาถึง 2,130 เรื่อง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี โดยในปี 2563 มีทั้งหมด 5,823 เรื่อง และปี 2564 มี 7,774 เรื่อง

หัวข้อที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดในปี 2566 ได้แก่ การล่วงละเมิดทางวาจา ร้อยละ 32.8 และ การกระทำที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายทรัพยากรบุคคล ร้อยละ 13.8 โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการแล้ว 9,672 เรื่อง ส่วนอีก 356 เรื่อง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

ทั้งนี้ มีเพียง 57 เรื่อง ที่เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายกำหนดโทษทางอาญา แค่เฉพาะในกรณีนายจ้างไล่ออกหรือปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม เหตุละเมิดในที่ทำงานมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30 ล้านวอน (ราว 803,112 บาท) ส่วนการละเมิดในเรื่องอื่น ๆ จะถูกปรับ 10 ล้านวอน (ราว 267,704 บาท) ไม่มีความผิดทางอาญาและประวัติอาชญากรรม

“ฮันกุกรีเสิร์ช” หน่วยงานสำรวจความเห็นประชาชนทั่วไป เปิดเผยว่า เหตุการณ์ล่วงละเมิดอาจมีเยอะกว่าที่รัฐบาลได้รับรายงานมาก เพราะลูกจ้างหลายรายกังวลว่า จะถูกบริษัทลงโทษ

จากการสำรวจลูกจ้างทั่วประเทศ 1,000 คน ร้อยละ 46 เคยเผชิญกับการละเมิด ร้อยละ 33 เลือกที่จะเพิกเฉย ส่วนร้อยละ 31 ลาออก และร้อยละ 25 ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ทั้งนี้ มีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น ที่รายงานไปยังองค์กรภายนอก

ในการสำรวจเดียวกันนี้ ร้อยละ 96 ของผู้ทำแบบสอบถามมองว่า กฎหมายปกป้องลูกจ้าง ควรใช้กับลูกจ้างในทุกรูปแบบ รวมไปถึงลูกจ้างในบริษัทที่มีพนักงานน้อยกว่า 5 คน ด้วย.

เครดิตภาพ : AFP