เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา ว่าให้มีการกวดขัน ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง เพราะกระทบกับเด็กเยาวชนในโรงเรียนจำนวนมาก ว่า นับว่าเป็นครั้งแรกที่นายกฯ มีการสั่งการอย่างจริงๆ จังๆ ดังนั้นต้องดูว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยหรือไม่ โดยการห้ามนำเข้านั้น อยู่ในกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ แต่คนที่บังคับจริงๆ คือศุลกากร ส่วน สคบ. ก็มีกฎหมายห้ามขาย แต่มีอัตรากำลังจำกัด โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องช่วยในเรื่องของการจับกุม ต้องทำงานอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำเหมือนไฟไหม้ฟาง สั่งแล้วก็เงียบอีก คนก็ไม่กลัว

“เมื่อนายกฯ สั่งการ แล้วศุลกากร ตำรวจ และ สคบ. ถ้าทำงานจริงๆ จังๆ ปัญหาก็จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน ส่วนออนไลน์ตอนนี้เริ่มมีการดำเนินการ แต่ต้องทำต่อเนื่องในการปราาบเว็บไซต์ที่มีการขายบุหรี่ไฟฟ้า เลขาธิการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ระบุว่า 35 ประเทศที่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้า และมีการดำเนินการจริงๆ จังๆ ใน 3 เดือน ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศเขาหมดจริงๆ คนถ้าถูกจับจริงๆ จับแล้วจับอีก ที่ต้องปรับก็ปรับ ที่ต้องจำคุกก็จำคุก เขาก็จะเลิก เป็นไปไม่ได้ถ้าทำจริงจังแล้วปัญหาจะมากขึ้น” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ที่ผ่านมา ไม่เคยมีการสั่งการอย่างจริงๆ จังๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ต้องไม่ลืมว่า รัฐมนตรีคนก่อน นอกจากไม่สั่งการป้องกันและปราบปรามแล้ว ยังจะให้มีการเปิดขายได้อีก ซึ่งการเปิดขายถูกกฎหมาย ไม่ได้ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนจะหายไป เพราะบุหรี่มวนตอนนี้มีการเปิดขายถูกกฎหมาย แต่บุหรี่เถื่อนก็ยังพบมากถึง 25-27% รัฐมนตรี รัฐบาลชุดที่แล้ว อ้างว่า เนื่องจากมีการขายกันเยอะ ก็เปิดขายให้ถูกกฎหมายแล้วเรื่องจะได้จบๆ แต่ที่จริงไม่ใช่แบบนั้น เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนก็จะยังมีอยู่ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่เข้ามารอบนี้บอกว่า ให้เปิดขายเลย แล้วป้องกันไม่ให้เด้กเข้าถึง และป้องกันไม่ให้ผสมกลิ้น รส ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไปอยู่ใต้ดิน อยู่ในตลาดมืดเหมือนปัจจุบัน รวมถึงทอยส์พอต ต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม ที่มีการเปิดขายก่อนประเทศไทย ตอนนี้พบว่า มีการออกกฎหมายขึ้นมาห้ามการขายทอยส์พอต หรือพอตธรรมดา ซึ่งประกาศจะออกกฎหมายให้ได้ภายในปีนี้

ดังนั้นไม่ใช่ว่าจะไปเชื่อที่บริษัทบุหรี่พูดว่า เปิดขายแล้วจะแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนได้ เพราะไม่มีทางแก้ปัญหาได้ หากคุณไม่บังคับใช้กฎหมาย จึงต้องทำทั้ง 2 อย่าง บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง กระทรวงศึกษาฯ ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าในหลักสูตร อย่างในสหรัฐอเมริกา พบว่า เมื่อเด็กมีความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น การสูบก็น้อยลง หรือข้อมูลของไทย สำรวจนักเรียนทั้ง 4 ภาค พบภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูบมากสุด ภาคใต้ ภาคเหนือ รองลงมา ภาคกลางต่ำสุด ซึ่งสัมพันธ์กับความรู้ของเด็กว่า รู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้ามากน้อยเพียงใด วันนี้ต้องยอมรับว่า กระทรวงศึกษาฯ ยังไม่ได้ทำ เพิ่งจะมาเริ่มทำ กทม. ก็เพิ่งจะมาเริ่มทำ ส่วนศุลกากรก็เพิ่งเริ่มจับของเถื่อน ก็ต้องให้เวลาดูว่า เมื่อนายกฯ สั่งแล้ว จะจัดการจริงจังหรือไม่ ซึ่งรวมถึงการขายออนไลน์ด้วย.