มื่อวันที่ 6 ม.ค. พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงกระแสข่าวกองทัพเรือชะลอการซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการประเมิน ขอให้ใจเย็นๆ ยอมรับว่ามีข้อจำกัดเยอะ ซึ่งเรามีเรือดำน้ำลำที่ 1 แล้วดังนั้น ลำที่ 2 และ 3 ต้องมี แต่จะมาเมื่อไหร่ต้องว่ากันไป

“ถ้าลำที่ 1 late (ล่าช้า) ออกไป ลำที่ 2 และ 3 ก็ late ตอนนี้ลำที่ 1 มีข้อจำกัดเรื่องการช้ากว่าแผนจากผลของสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น ลำที่ 2-3 ต้องขยับออกไปได้ แต่ที่ผ่านมาขยับมาหลายปีแล้ว” ผบ.ทร. กล่าว

เมื่อถามว่า ในปีงบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 จะชะลอเรือดำน้ำออกไปก่อนหรือไม่ พล.ร.อ.สมประสงค์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณา ต้องดูหลายอย่างประกอบกัน ถ้าถามว่าเราอยากได้หรือไม่ ตอบว่าเราอยากได้แต่ต้องดูให้เหมาะสม ที่เราเสนอไปแล้วถูกตีตกรวม 3 ปีงบประมาณกองทัพเรือถูกตัดไปกว่า 80,000 ล้านนบาทฟรีๆ ซึ่งปีแรกและปีที่สองกว่าปีละ 3,000 ล้านบาท และปีที่สามประมาณ 900 ล้านบาท ทำให้งบประมาณ ทร.ลดลงไปเรื่อยๆ กระทบต่อแผนพัฒนากองทัพ ดังนั้นต้องมาปรับอย่างไรก็ตามตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำ 2 ลำ เราต้องปรับในเรื่องการหาเรือไปปราบเรือดำน้ำ และนายกฯยังไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ อยู่ระหว่างการพิจารณาของกองทัพเรือ

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวในที่ประชุมสภากลาโหม ช่วงก่อนสิ้นปี 2564 ย้ำให้เหล่าทัพจัดลำดับความเร่งด่วนที่จำเป็นในการจัดทำโครงการต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ความมั่นคง และ แผนพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพและให้ใช้จ่ายตามกรอบวงเงินแต่ละไตรมาส ไม่ได้ลงลึกหรือพูดถึงการซื้ออาวุธรายโครงการ ส่วนการชะลอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ออกไปเป็นปีที่ 2 นั้นต้องดูการเสนอของกองทัพเรือต่อไปว่าได้จัดลำดับความสำคัญอย่างไร

เมื่อถามถึงโครงการจัดเครื่องบินขับไล่เอฟ 35 ของกองทัพอากาศจะเสนอเข้ามาในแผนงบประมาณ 2566 หรือไม่ พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า ต้องดูจากความจำเป็นเร่งด่วนในส่วนของกองทัพอากาศ จัดหาเครื่องบินรบและเครื่องบินฝึกเพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่หมดอายุการใช้งาน ไม่สามารถทำการบิน หรือป้องกันภัยทางอากาศได้ ต้องชั่งน้ำหนักดูว่าการที่กองทัพอากาศผลิตนักบิน ต้องใช้งบประมาณ และสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเหล่านี้ออกมา เมื่อต้องใช้เครื่องที่หมดสภาพ ไม่มีความพร้อมทางธุรการ เมื่อทำการบินเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ไม่คุ้มกับการที่ต้องสูญเสีย ซึ่งรายละเอียดและความจำเป็นในการจัดซื้อเป็นหน้าที่ของกองทัพอากาศเป็นผู้ชี้แจง.