สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ว่า​ นพ.นูร์ ฮิชาม อับดุลเลาะห์ อธิบดีกรมควบคุมโรคของมาเลเซีย กล่าวเมื่อวันอังคาร เกี่ยวกับการที่วารสารการแพทย์ นิว อิงแลนด์ เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นผลการศึกษาวิจัยการใช้งานวัคซีนโคโรนาแวค ผลิตโดยบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ของจีน ในชิลี ระหว่างเดือน​ ก.พ. ถึง​พ.ค.ที่ผ่านมา ว่าวัคซีนของซิโนแวคลดอัตราการติดเชื้อได้ 65.9% ลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลได้ 87.5% ลดอัตราการเข้าห้องไอซียูได้ 90.3% และลดอัตราการเสียชีวิตได้ 86.3%
ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบระหว่างชาวชิลีซึ่งฉีดวัคซีนของซิโนแวคครบแล้ว 4.2 ล้านคน เปรียบเทียบกับประชาชนอีก 5.5 ล้านคนซึ่งยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และผู้ป่วยโควิด-19 ในชิลี 218,784 คน
ขณะที่ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ในชิลี แม้ปรากฏออกมาว่า ประสิทธิผลในภาพรวมอยู่ที่ 95% แต่วิเคราะห์ผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพียง 170 คน แบ่งเป็น 8 คน รวมในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคครบสองเข็มแล้ว และอีก 162 คนจากกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
นอกจากนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรคของมาเลเซียยกกรณีศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล ซึ่งกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ "เดลตา" ว่าทำให้ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ลดลงมาอยู่ที่ 64% จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม วัคซีนตัวนี้ยังสามารถลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลและการป่วยหนักได้ 93%
นพ.นูร์ ฮิชาม กล่าวว่า ผลการศึกษาการใช้งานในโลกจริงของวัคซีนซิโนแวคและไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค "ไม่แตกต่างกันมากนัก" วัคซีนทั้งสองตัวแม้พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีคนละแบบ แต่สามารถป้องกันอาการป่วยหนัก และการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้เช่นกัน แต่ลดลงต่ออาการป่วยแบบเบาบาง หรือติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES