เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่าที่ประชุมมีมติปรับวงเงินประกันสุขภาพกรณีของชาวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทย จากเดิมรายละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเหลือ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่เกินประมาณ 700,000 บาทต่อราย ครอบคลุมเพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายละประมาณ 300,000 บาท ขณะเดียวกันถือเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจมาเที่ยวในบ้านเราง่ายขึ้น

โดยเหตุผลที่ก่อนหน้านี้ เราตั้งวงเงินประกันสุขภาพของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไว้ที่ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเพราะต้นตอการแพร่ระบาดของโรคในตอนนั้นอยู่ในต่างประเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นในไทย แต่ตอนนี้อัตราการติดเชื้อของผู้ที่มาจากต่างประเทศ ประมาณ 1 คนต่อ 1,000 คน ขณะที่การติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ เราก็ต้องปรับเพื่อให้ผู้ประกอบการและคนไทยดำเนินชีวิตไปได้ให้ใกล้ปกติมากที่สุด ทั้งนี้ การลดวงเงินประกันสุขภาพดังกล่าวจะเริ่มวันที่ 1 มี.ค. 65

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค. ยังเห็นชอบให้ยกเลิกการตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR ในวันที่ 5 ของการอยู่ในไทย แล้วให้ตรวจด้วยชุดแอนติเจน เทสต์ คิท (เอทีเค) ก่อนให้รายงานกลับมา ซึ่งการตรวจแบบเอทีเคมีความแม่นยำในระดับหนึ่ง และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้ เช่นกัน และที่ประชุมได้หารือถึงการเพิ่มจำนวนโอปเรเตอร์โทรศัพท์สายด่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1330 

เมื่อถามถึงรายงานข่าวที่ว่า นายกรัฐมนตรีทดลองโทรศัพท์ไปที่สายด่วน สปสช. 1330 แล้วพบว่าเจ้าหน้าที่ปลายสายมีน้ำเสียงเหน็ดเหนื่อย นายอนุทิน กล่าวว่า นายกฯบอกว่า ได้โทรศัพท์ไปจริง แล้วได้ยินเสียงของปลายสายมีน้ำเสียงงัวเงีย ดังนั้นตนกำชับให้ สปสช. แก้ไขปรับปรุงผู้รับสายให้มีความกระตือรือร้นมากขึ้น

ต่อข้อถามว่า คาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากที่สุดในเดือนไหน นายอนุทิน กล่าวว่า ขอให้ทุกคนปรับพฤติกรรมให้มากที่สุด และขอฉีดวัคซีนให้มาก ๆ ลดการปาร์ตี้ให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงหลีกเลี่ยงอยู่กับผู้คนในสถานที่แออัด เมื่อถามว่า นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ประมาณการณ์ว่า เราน่าจะฉลองเทศกาลสงกรานต์ได้ในเดือน เม.ย.นี้ นายอนุทิน กล่าวว่า บ้านเราฉลองทุกเทศกาล ทั้งนี้เราก็ต้องเชื่อแพทย์ เพราะเขาติดตามดูอยู่ ตราบใดที่อัตราการป่วยหนักหรือการเสียชีวิตยังอยู่ในระดับกราฟเส้นสีเขียว ก็สามารถดำเนินตามนั้นได้ อย่าให้ทะลุมาสีส้มก็แล้วกัน ก็ต้องขอความร่วมมือกันตอนนี้ เมื่อถามย้ำว่า มีข่าวว่าในที่ประชุม ศบค. ได้พูดถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อตอนนี้ ว่าตัวเลขจริงคูณห้าเท่า นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มี ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็รายงานตามจริง เรามีมาตรฐานอยู่แล้ว เราปิดไม่ได้เรื่องนี้

เมื่อถามว่าตอนนี้ศิลปินดาราจำนวนมากติดเชื้อโควิด-19 จะต้องปรับมาตรการเกี่ยวกับการถ่ายทำรายการหรือละคร หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกคนต้องทำตามมาตรการ VUCA (ประกอบด้วย V-วัคซีน, U-มาตรการป้องกันครอบจักรวาล, C- โควิดฟรีเซตติ้ง, A-เอทีเค) จึงอยู่ที่ทำหรือไม่ทำ วันนี้ทุกอย่างที่ทำต้องทำจากผู้ประกอบการ โควิดฟรีเซ็ตติ้ง ถ้าทำได้ก็ลดความเสี่ยง

ทางด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือศูนย์ดูแลศูนย์พักคอย (Community Isolation : CI)  หรือฮอสพิเทล (Hospitel) จะมีคำถามว่าประชาชนสามารถเลือกได้หรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่า จริง ๆ ต้องพิจารณาจากการประเมินอาการ หากไม่มีอาการ หรือสีเขียว ก็จะขอให้อยู่ HI แต่หากไม่สะดวกเพราะอยู่กันหลายคนในบ้าน ไม่มีห้องแยก ก็สามารถเข้า CI ซึ่งขณะนี้ทางผู้ว่าฯ กทม. บอกว่าจะมีการเพิ่มศูนย์ CI ขึ้น หากต้องการเข้าพักที่ฮอสพิเทล ก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ หากเข้ารักษา รพ.กันมาก ๆ ทั้งที่ไม่ได้มีอาการจะเกิดปัญหา รพ.เต็ม

“ขณะนี้ได้พูดคุยกับทางรองเลขาฯ สปสช. ให้เปิดรับหน่วยบริการ หรือคลินิก ที่จะมาดูแลผู้ป่วยใน HI เพิ่มเติมแล้ว เพื่อให้รองรับกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้าระบบ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยบริการ HI ในกรุงเทพฯ ประมาณกว่า 200 แห่ง เป็นคลินิกชุมชนอบอุ่น 197 แห่ง และอื่น ๆ อีกประมาณ 10 แห่ง” เลขาฯ สปสช. กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาตอนนี้คลินิกบางแห่งระบุว่า สปสช. ยังค้างจ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วยโควิด นพ.จเด็จ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงไม่ใช่ไม่จ่าย แต่อยู่ระหว่างตรวจสอบให้ละเอียด โดยทยอยจ่ายไปแล้ว 9 หมื่นกว่าล้านบาท หรือจ่ายแล้ว 97%  ส่วนที่ไม่จ่าย 3 พันกว่าล้านบาท นั้นเนื่องจากข้อมูลไม่ครบ อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า ให้บริการผู้ป่วยจริงหรือไม่ บางที่ถูกร้องเรื่องอาหาร นอกนั้นยังมีประเด็นรอเงินกู้งวดใหม่อีกหมื่นกว่าล้านบาท สปสช. กำลังของบฯ อีก 5.1 หมื่นล้านบาท ดังนั้นขอให้หน่วยบริการมั่นใจว่า หากทุกอย่างถูกต้อง มีการให้บริการผู้ป่วยจริง เราจ่ายแน่นอน
 
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สิ่งสำคัญตอนนี้ขอเน้นย้ำช่องทางให้แก่ผู้ติดเชื้อโควิด โดยหากผลตรวจ ATK เป็นบวก ไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR  สามารถติดต่อสายด่วน 1330 เพื่อเข้าระบบการรักษา ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3 พันคู่สาย โทรฯ สูงสุดพร้อมกันได้ถึง 1.8 พันคู่สาย มีเจ้าหน้าที่รับสาย 300 คน ล่าสุดเพิ่มอีก 150 คน เปิดตลอด 24 ชั่วโมง หากไม่สามารถโทรฯ ติดต่อได้ ให้ติดต่อผ่านอีก 2 ช่องทางคือ ไลน์ออฟฟิเชียล @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6  ซึ่งในนั้นจะมีเมนูเกี่ยวกับโควิด-19 ให้เข้าไปกรอกข้อมูลเพื่อรับการดูแลแบบ HI  หากกรอกข้อมูลไม่เป็น สามารถพิมพ์สอบถามแอดมินได้ระหว่างเวลา 08.00-20.00 น. หรือ ลงทะเบียนด้วยการสแกน QR code ที่อยู่บนเว็บไซต์ สปสช. หรือที่ลิงก์ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI จะมีแบบฟอร์มให้กรอกชื่อ เบอร์โทรฯ ที่อยู่ปัจจุบัน โรคประจำตัว น้ำหนัก ส่วนสูง เมื่อบันทึกข้อมูลแล้ว 15-20 นาที สามารถตรวจสอบได้เลยว่าจะมีหน่วยบริการไหนมาเป็นเจ้าภาพรับดูแลทำ HI ให้.