เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ปัจจุบันคนไทยยังได้รับการรักษากรณีติดโควิดฟรี อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการบริการโควิดมีการใช้จ่ายไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาทเฉพาะคนไทย โดย 7 หมื่นกว่าล้านบาท หรือ 74% อยู่ที่ภาครัฐ อีกกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท หรือ 26% อยู่ที่ภาคเอกชน ซึ่งใน 2.7 หมื่นล้านบาท มี 88% อยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว ขณะที่การระบาดของโอมิครอน เราเข้าใจแล้วว่ากว่า 90% ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวอาการน้อยมาก ปอดอักเสบแทบไม่มี ทางการแพทย์จึงไม่ได้กำหนดว่าต้องเอกซเรย์ปอดแล้ว

ปลัด สธ. กล่าวว่า ตอนนี้เราใช้ความรู้ในการบริหารมากขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป โดยกลุ่มสีเขียวพยายามให้อยู่ระบบ HI และ CI ซึ่งขณะนี้อยู่ประมาณ 60% แต่ก็อยากให้ได้ถึง 90% เพื่อให้โรงพยาบาลมีพื้นที่ดูแลคนไข้โรคอื่นๆ ได้ ส่วนคนที่ไปตรวจโรคเรื้อรังอื่นๆ แล้วพบว่าติดโควิดด้วยก็ต้องให้อยู่ รพ. ถึงแม้ว่าไม่มีอาการของโรคโควิดเลย ในส่วนนี้มีประมาณ 10% ทั้งนี้ขอชี้แจงว่าการที่ให้ผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวอยู่ HI หรือ CI ไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณ ที่ไม่ต้องจ่ายถึง 2.7 หมื่นล้านในกลุ่มนี้ แต่เป็นเรื่องแนวคิดและทัศนคติ เพื่อให้โรคโควิดไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น เหมือนโรคหวัด บางทีอาการน้อยๆ กินยาลดไข้ นอนพักผ่อน แต่หากมีไข้สูง ก็ต้องพบแพทย์

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ได้มีการประชุมแผนออกจาก Pandemic เพื่อเข้าสู่  Endemic โดยวางแผนไว้ 4 เดือน ซึ่งจะทราบรายละเอียดขั้นตอนในสัปดาห์หน้า ซึ่งจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญได้รับคำตอบว่าโรคลดความรุนแรงลดลง เพียงแต่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม ทำให้เห็นตัวเลขผู้ป่วยอักเสบเพิ่ม แต่โดยสัดส่วนผู้ป่วยอักเสบ ผู้เสียชีวิตเมื่อเทียบแล้วลดลง อีกทั้ง ผู้ป่วยปอดอักเสบในโอมิครอน ปรากฏว่าอักเสบจริงแต่ไม่ต้องการออกซิเจน 

“ส่วนผู้เสียชีวิตปัจจุบันนี้ พบว่า 100% ยังอยู่ในกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง ซึ่งยังเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง แต่สมัยตอนเดลตา อัลฟาระบาด กลุ่มเสียชีวิตเป็น 608 ประมาณ 50-60% ดังนั้น บ่ายวันนี้ (24 ก.พ.) จะมีการประชุมเทเลคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อค้นหาประชาชนตามทะเบียนบ้าน เพื่อให้เข้าถึงการรับวัคซีน แต่จริงๆ ภาพรวม 608 ได้รับวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 ถึง 80% ส่วนเข็ม 3 ได้ประมาณ 30%  ก็พยายามให้สูงที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ลดเสียชีวิต” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมกรณีการฉีดวัคซีนโควิดในผู้สูงอายุ ว่า หากฉีดเข็ม 3 ในกลุ่มเสี่ยงได้ถึง 60-70% จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากตอนนี้ลงไปอีก 50%