เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนกำลังเขียนโครงการมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของนักเรียน ครู และผู้ปกครองในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เพื่อเสนอให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา เพื่อนำสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 27 ก.ค.นี้ต่อไป โดยมาตรการความช่วยเหลือต่างๆยืนยันว่าจะเป็นการลดภาระให้แก่นักเรียน ผู้ปกรอง ครู และสถานศึกษาอย่างแน่นอน โดยจะครอบคลุมไปถึงโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนสังกัด กทม.และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดมาตรการที่ชัดเจนได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงาน เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของมาตรการมากที่สุด

“ขณะนี้ผมเพิ่งหารือร่วมกับผู้แทนโรงเรียนเอกชนทุกประเภทและสมาคมการศึกษาโรงเรียนเอกชน ซึ่งมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าเทอม ซึ่งส่วนหนึ่งยอมรับว่าเห็นใจโรงเรียนเอกชนที่ผู้ปกครองยังค้างเทอมอยู่จำนวนมาก โดยอัตราการจ่ายค่าเทอมของผู้ปกครองอยู่ที่ 30% เท่านั้น ขณะที่โรงเรียนเอกชนยังต้องแบกค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าจ้างเงินเดือนครู และครูต่างชาติที่เดินทางกลับมาสอนในประเทศไทย และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกักตัวหรือ State Quarantine ด้วย ดังนั้นจะต้องวางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย” ดร.สุภัทร กล่าวและว่า สำหรับสถานการณ์การเปิดภาคเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนที่โรงเรียนตามปกตินั้น ศธ.ยังตอบไม่ได้ว่าการเปิดเรียนให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียนอย่างเป็นทางการจะเป็นเมื่อไหร่ เพราะมาตรการทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่เป็นผู้พิจารณา ซึ่งก็เป็นไปได้ว่านักเรียนอาจจะต้องเรียนออนไลน์ทั้งภาคเรียนที่ 1 และภาคเรียนที่ 2 ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐบาลจะต้องระดมการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง