สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ว่า ในช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์พิเศษกับสถานีโทรทัศน์เอบีซีของสหรัฐ ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวถึงความมุ่งมั่นของยูเครนในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ว่า “จะไม่เรียกร้องอีก” เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ว่านาโต “ไม่ประสงค์รับยูเครนเป็นสมาชิก” และเขาไม่ต้องการเป็นผู้นำประเทศที่ “คุกเข่าอ้อนวอนขออะไรจากใคร”


อย่างไรก็ตาม เซเลนสกีประณามนาโต “มีความหวาดกลัวและไม่กล้าเผชิญหน้า” กับรัสเซีย จากการที่ นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ยืนกรานว่า สหภาพทางทหารแห่งนี้ไม่มีทางเป็นฝ่ายประกาศเขตห้ามบินเหนือยูเครน ด้วยเหตุผลว่า หากทำเช่นนั้นจะเป็นการนำตัวเองเข้าสู่สงครามกับรัสเซีย

ABC News


ขณะเดียวกัน ผู้นำยูเครนกล่าวด้วยว่า เขา “พร้อมประนีประนอม” ความต้องการของรัฐบาลมอสโก ในการยอมรับว่า คาบสมุทรไครเมียเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย พร้อมยอมรับ “สาธารณรัฐโดเนตสก์” และ “สาธารณรัฐลูฮันสก์” ในภูมิภาคดอนบาส ที่อยู่ทางตะวันออกของยูเครน “ในฐานะรัฐอิสระ”

อย่างไรก็ดี เซเลนสกียืนยันว่า “การประนีประนอม” หมายถึง “พร้อมเจรจา” และ “ต้องไม่ใช่การตั้งเงื่อนไขให้ยอมจำนน” พร้อมทั้งย้ำว่า เขาพร้อม “เจรจาโดยตรง” กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งยังคงไม่ตอบสนองที่จะให้เขาเข้าพบ

ขณะที่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ผู้นำยูเครนกล่าวถ้อยแถลงต่อสภาสามัญของสหราชอาณาจักร ยืนยันว่า ทุกภาคส่วนในยูเครน “จะร่วมกันต่อสู้จนถึงที่สุด” เรียกร้องการยกระดับคว่ำบาตรรัสเซีย และกล่าวอีกครั้งเกี่ยวกับเขตห้ามบิน แม้รัฐบาลสหราชอาณาจักรปฏิเสธไปแล้วก็ตาม

Reuters


ทั้งนี้ รัสเซียมองการขยายอิทธิพลของนาโตในยุโรปตะวันออก “เป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงอย่างร้ายแรง” และประกาศชัดเจนมาตลอด ว่ายูเครน “ต้องเป็นกลางทางทหาร” แต่ท่าทีล่าสุดของผู้นำยูเครนยังไม่ชัดเจน ว่าจะส่งผลต่อการเจรจากับรัสเซียในครั้งต่อไปหรือไม่ โดยนายเดวิด อาราคาเมีย หนึ่งในสมาชิกคณะผู้แทนเจรจาสันติภาพของยูเครน กล่าวว่า มีการยื่นข้อเสนอ พร้อมเจรจาทั้งในระดับทวิภาคีกับรัสเซีย หรือพหุภาคีกับอีกหลายฝ่าย เกี่ยวกับ “กรอบความร่วมมือนอกนาโต” หมายถึง การมีหลักประกันด้านความมั่นคงจากสหรัฐ สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES