ภายหลังจาก สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พรหมคุตโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และประธานคณะสนองงานสมเด็จพระสังฆราช ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ เวลา 14.22 น. หลังเข้ารักษาอาการอาพาธ ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สิริอายุ 85 ปี 65 พรรษา นั้น
     

ทั้งนี้ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พรหมคุตโต) นับเป็นพระเถระที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์ในมหาเถรสมาคม (มส.) เป็นลำดับที่สองรองจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อีกทั้งท่านยังดำรงตำแหน่งสำคัญนอกจากกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดบวรฯ คือ ประธานคณะผู้ช่วยสนองงานในสมเด็จพระสังฆราช และยังได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระสังฆราช ให้ดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตแทนพระองค์อีกด้วย ซึ่งสำหรับตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตนี้ หากสมเด็จพระสังฆราช มาจากฝ่ายธรรมยุต จะทรงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตด้วยตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่สมเด็จพระสังฆราช ทรงไว้วางใจมอบหมายให้สมเด็จพระวันรัต ปฏิบัติหน้าที่แทนในตำแหน่งดังกล่าว
       

สำหรับประวัติ สมเด็จพระวันรัต มีนามเดิมว่า จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2479 ที่บ้านเกาะเกตุ ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด สำเร็จการศึกษาชั้น ป.4 จากโรงเรียนวัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด จากนั้น เข้าพิธีบรรพชาเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2491 ที่วัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด โดยมีพระวินัยบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดคิรีวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2499 ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมี สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตโต) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตตโร) วัดคิรีวิหาร จ.ตราด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิสุทธิธรรมภาณ (แจ่ม ธัมมสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ทั้งนี้สมเด็จพระวันรัต นับว่าเป็นพระนวกะ (พระบวชใหม่) ร่วมสมัยกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงผนวชวันที่ 22 ต.ค. 2499 และประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร จนกระทั่งทรงลาผนวชวันที่ 5 พ.ย. 2499 และเมื่อคราวที่ สมเด็จพระวันรัต ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระอมรโมลี ยังได้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเรื่องพระธรรมวินัย แด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงผนวชเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2521 ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดจนทรงลาผวชในวันที่ 20 พ.ย.2521 ด้วย
     

ด้านการศึกษา สมเด็จพระวันรัต ในวัยเยาว์มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจัง พ.ศ.2495 สอบได้นักธรรมชั้นเอก พ.ศ.2516 สอบได้ประโยคเปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรฯ ทั้งสร้างผลงานอันทรงคุณูปการในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณูปการ ดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างเสนาสนะวัดบวรฯ ส่วนด้านสาธารณสงเคราะห์ จัดตั้งทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ วัดตรีทศเทพฯ, จัดหาทุนสมทบสร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาล และตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, จัดหาทุนสมทบสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สิงห์บุรี, สร้างตึกโรงพยาบาลตราด, รับอุปถัมภ์นักเรียนโรงเรียนวัดคิรีวิหาร และโรงเรียนมัธยมคีรีเวศน์รัตนูปถัมภ์ จ.ตราด, แจกทุนการศึกษานักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ เป็นต้น
       

สมเด็จพระวันรัต เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะสงฆ์มากมาย เช่น เจ้าอาวาสวัดบวรฯ, กรรมการมหาเถรสมาคม, กรรมการมหาเถรสมาคมธรรมยุต, เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต), อนุกรรมการฝ่ายการปกครอง ของมหาเถรสมาคม, แม่กองธรรมสนามหลวง, กรรมการฝ่ายศาสนศึกษา ของ มส., รองประธานกรรมการฝ่ายศาสนศึกษา ของ มส., ผอ.มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย, กรรมการฝ่ายศาสนศึกษา ของ มส., ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม, ผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต, คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และประธานคณะสนองงานในสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น
     

นอกจากนี้ท่านยังได้รับภาระหน้าที่ยากที่จะหาผู้ใดทำหน้าที่นี้ได้ในยุคปัจจุบัน คือ การที่ได้รับมอบหมายจาก มส.เป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง (ปฏิทินจันทรคติของไทย) และให้ความเห็น ก่อนที่จะประกาศใช้ในแต่ละปีด้วย และท่านยังเป็นผู้เดินหมุดและคำนวณปฏิทินปักขคณนา สำหรับบอกอุโบสถให้คณะสงฆ์คณะธรรมยุตด้วย และที่สำคัญสมเด็จพระวันรัต ยังได้รับนิมนต์ให้ปฏิบัติหน้าที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ นั่งเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพหลายครั้งด้วยกัน โดยรับนิมนต์นั่งเสลี่ยงกลีบบัว อ่านพระอภิธรรมนำพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2560, พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 15 พ.ย. 2551, พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี วันที่ 9 เม.ย. 2555
     

ส่วนลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมรโมลี พ.ศ.2531 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสุมนต์มุนี พ.ศ.2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพกวี พ.ศ.2541 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมกวี พ.ศ.2543 ได้รับพระราชทานสถาปนา สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัณยบัฏที่ พระพรหมมุนี พ.ศ.2552 ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระวันรัต.