สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ว่าคณะกรรมการมรดกโลก ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก ) มีมติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมประจำปีเป็นการภายใน ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นที่เมืองฝูโจว ในมณฑลฝูเจี้ยน "ยังไม่ลดระดับ" แนวปะการัง "เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ" เข้าสู่ทำเนียบมรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย 
ด้านนางซัสแซน เลย์ รมว.สิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย กล่าวขอบคุณการลงมติของยูเนสโก ว่ายังคง "มีความเข้าใจและเล็งเห็น "ความพยายามอย่างจริงจัง" ของออสเตรเลีย ในการรักษาสภาพแวดล้อมของเกรต แบร์ริเออร์ รีฟ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลแคนเบอร์ราทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อปกป้องแนวปะการังขนาดใหญ่และมีความยาวที่สุดของโลก ทอดยาวเป็นระยะทางประมาณ 2,300 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม นายทิม แบดแมน ผู้อำนวยการโครงการมรดกโลกของยูเนสโก ยังคงยืนกรานว่า สถานการณ์ของเกรต แบร์ริเออร์ รีฟ ในเวลานี้ "ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่ากำลังตกอยู่ในอันตราย" จากวิกฤติการฟอกขาว ซึ่งเป็นผลจากอุณหภูมิของน้ำทะเลในบริเวณนั้นที่สูงขึ้นอย่างมาก ทำให้สาหร่ายซูแซนเทลลี ซึ่งอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง ล้มตาย และทำให้สภาพของปะการังเสื่อมโทรมลงทุกขณะ
ภาพถ่ายมุมสูงของแนวปะการัง เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ เมื่อเดือน ก.ค.ปีนี้
ทั้งนี้ ยูเนสโกมีข้อเสนอเบื้องต้นเกี่ยวกับการเตรียมลดสถานะของเกรต แบร์ริเออร์ รีฟ เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้แก่ออสเตรเลีย ด้านองค์กรอนุกรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายแห่งวิจารณ์ว่า เรื่องนี้ "คือความน่าอับอายขายหน้า" ของนายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน ซึ่งยังคงปฏิเสธเห็นชอบนโยบายคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 เพราะอุตสาหกรรมหลายประเภทในออสเตรเลีย ยังคงพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินเป็นหลัก
สำหรับแนวปะการัง เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี 2524 ขณะที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ( ไอยูซีเอ็น ) เผยแพร่รายงาน เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ว่าภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก "กำลังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุด" ของมรดกโลกทางธรรมชาติ.

เครดิตภาพ : AP