นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ภายหลังศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “อยากได้ใคร เป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 8” สอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในพื้นที่ กทม. จำนวน 1,318 หน่วยตัวอย่าง

ประเด็นที่น่าสนใจคือผลสำรวจทั้ง 8 ครั้ง พบนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม เจ้าของฉายา บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ได้รับคะแนนนิยมนำโด่ง ทิ้งห่างคู่แข่ง หลายช่วงตัวชนิดไม่เห็นฝุ่น!

อันดับสอง ร้อยละ 17.07 สนับสนุน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน ที่อยู่ภายใต้เงา คสช. ที่ใช้อำนาจมาตรา 44 แต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ลากยาวตั้งแต่ปี 2559

อันดับสาม ร้อยละ 11.68 ตอบว่า ยังไม่ตัดสินใจ, อันดับสี่ ร้อยละ 6.37 สนับสนุนผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล, อันดับห้า ร้อยละ 6.15 สนับสนุน ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

อันดับหก ร้อยละ 5.54 สนับสนุน น.ส.รสนา โตสิตระกูล, อันดับเจ็ด ร้อยละ 4.86 สนับสนุนนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

อันดับแปด ร้อยละ 3.03 สนับสนุนผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์, อันดับเก้า ร้อยละ 2.88 ระบุว่า ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) และอันดับ 10 ร้อยละ 2.66 สนับสนุนผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ

หากว่ากันตามหลักการประชาธิปไตยภายหลังเลือกตั้งท้องถิ่นระดับองค์การบริหารส่วนตำบลเสร็จสิ้นลง กระทรวงมหาดไทย ต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติวัน ว. เวลา น.เดินหน้าจัดเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

หลังจากโดนแช่แข็งมานาน 7 ปีเต็ม!

หากมองในมุมการเมือง สาเหตุลึกๆ ที่ผู้มีอำนาจเล่นเกมมอญซ่อนผ้า เข้าเกียร์ว่าง ไม่มีความชัดเจนเรื่องเปิดคูหาเลือกตั้งพ่อเมือง กทม.

ปัญหาหลักมาจากความไม่พร้อมของพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ที่ไม่สามารถหาคู่ท้าชิงที่พอฟัดพอเหวี่ยงไปชนกับ นายชัชชาติ บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

พรรคพลังประชารัฐรู้ดี หากเปิดคูหาให้เลือกตั้งตอนนี้ เท่ากับปล่อยให้ นายชัชชาติ กินรอบวงแบบไม่ต้องลุ้น!

อย่าลืมว่าการเลือกตั้งพ่อเมืองกรุงเทพฯ คือภาพสะท้อนฐานคะแนนคนเมืองหลวงที่เชื่อมโยงไปถึงการเมืองระดับชาติ และเสถียรภาพของรัฐบาล ตามทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ที่สรุปรูปแบบการเมืองไทย “แม้คนต่างจังหวัดซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ตั้งรัฐบาล แต่คนกรุงเทพฯ คือคนที่มีบทบาทสำคัญในการล้มรัฐบาล”

ทำให้ตอนนี้เริ่มมีการโยนหินถามทาง ปล่อยข่าว พรรคพลังประชารัฐ เตรียมเสนอชื่อ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี หรือ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคพลังประชารัฐ เพื่อส่งขึ้นไปชนกับนายชัชชาติ

สอดรับกับท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ปฏิเสธ และไม่ยอมรับเรื่องกระแสข่าว พรรคเตรียมส่งผู้ว่าฯ หมูป่า ลงท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

หากเรื่องนี้เป็นไปตามกระแสข่าวสิ่งที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ต้องดำเนินการคือ ปฏิบัติตามเงื่อนไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 14 และมาตรา 16

(1) ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตกรุงเทพฯ เป็นเวลาติดต่อกันจนถึงวันสมัครไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือ 6 เดือน
(2) ต้องลาออกจากตำแหน่งข้าราชการก่อนลงรับสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เหลืออายุราชการถึงปี 2568

นาทีนี้ฟันธง การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะเกิดขึ้นต่อเมื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล มีความพร้อมและได้เปรียบมากที่สุด

หากไม่สามารถหาคู่ท้าชิงที่ใหญ่พอขึ้นไปชนกับบุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี มีแนวโน้มผู้มีอำนาจอาจต้องหาข้ออ้าง ยื้อการเลือกตั้งพ่อเมืองกรุงเทพฯ ออกไปช่วงครึ่งหลังปี 2565 ก่อนรัฐบาลครบวาระเดือน มี.ค. 2566!