ทั้งนี้ กรณี “ข้าวไทยเสียแชมป์โลก” นั้น…ว่าที่จริงก็มิใช่เรื่องใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเสียแชมป์มิใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นครั้งแรก หากแต่ครั้งนี้ก็ยิ่ง ฉายภาพ-สะท้อน “ปัญหาของข้าวไทย” ในหลายมิติ …ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลมุมวิเคราะห์ที่มีผู้เชี่ยวชาญได้สะท้อนไว้…

“ความพ่ายแพ้ของข้าวหอมของไทย”…

ที่ต้อง “เสียแชมป์ให้ข้าวหอมกัมพูชา!!”

เรื่องนี้…ไทยจำเป็นต้องถอดบทเรียน”

ทั้งนี้… นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ข้าวไทยเสียแชมป์ เวทีนี้ โดยจากประวัติศาสตร์การประกวดข้าวเวทีนี้ ที่เริ่มจัดประกวดปี 2552 พบว่า… ปี 2552 กับ 2553 ไทยได้แชมป์ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ก่อนที่ปี 2554 จะเสียแชมป์ให้ข้าวเมียนมา ขณะที่ปี 2555 ก็เป็นกัมพูชาที่ได้แชมป์ และปี 2556 กัมพูชาครองแชมป์ร่วมกับสหรัฐ พอปี 2557 ไทยก็กลับมาคว้าแชมป์อีกครั้ง…แต่ครองร่วมกับข้าวของสหรัฐ ส่วนปี 2558 เป็นสหรัฐที่ได้แชมป์ ก่อนที่ปี 2559 และ 2560 ไทยจะกลับมาได้แชมป์ข้าวอีกหน แล้วก็พ่ายให้กัมพูชาในปี 2561 กับเวียดนามในปี 2562 จากนั้นจึงทวงแชมป์คืนได้ในปี 2563 กับ 2564

ก่อนจะมาแพ้กัมพูชาอีกครั้งในปี 2565…

สถิตินี้บ่งชี้ว่าข้าวไทยมีคู่แข่งรอบตัว!!”

เกี่ยวกับกรณี “ข้าวหอมมะลิไทย” แพ้ให้กับ “ข้าวหอมผกาลำดวนกัมพูชา” เรื่องนี้ก็มีมุมมองของ ผศ.ดร.พรชัย หาระโคตร นักวิชาการ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ได้สะท้อนไว้ผ่านบทความซึ่งมีการเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งโดยสังเขปจากการวิเคราะห์และสะท้อนไว้ มีดังนี้คือ… การประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก ปี 2565 หรือ The World’s Best Rice 2022 ผลการตัดสินออกมาว่า… ข้าวหอมมะลิของไทยเสียแชมป์ให้กับข้าวหอมผกาลำดวนของกัมพูชาไปแบบฉิวเฉียดเพียง 1 คะแนน…

“คะแนนที่แพ้” คือเรื่อง “กลิ่นหลังหุง”

“จากผลแข่งขันจะเห็นได้ว่า…นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ชนะไม่ใช่ประเทศไทย และไม่ใช่ครั้งแรกที่ข้าวหอมผกาลำดวนได้เป็นแชมป์ โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผลแข่งขันผลัดกันแพ้ชนะมาตลอด โดยไทยได้แชมป์ 7 ครั้ง กัมพูชา 5 ครั้ง ที่เหลือเป็นของประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม เมียนมา สหรัฐ”…ทาง ผศ.ดร.พรชัย ระบุไว้

พร้อมทั้งยังสะท้อนไว้ต่อไปว่า… การประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกนั้น ไม่ได้น่าสนใจแค่การได้แชมป์ในแต่ละปี แต่อยู่ที่ “ที่มาของพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวด” มากกว่า โดย “ข้าวไทย” เป็น พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งถูกพัฒนาและรับรองพันธุ์มานานกว่า 60 ปีแล้ว ส่วน “ข้าวหอมผกาลำดวน” ของ “กัมพูชา” นั้น เพิ่งจะถูกพัฒนามาแค่ประมาณ 20 ปี ขณะที่อีกหนึ่ง “คู่แข่งสำคัญของไทย” อย่าง “เวียดนาม” ก็ได้ส่งประกวด “ข้าวพันธุ์ ST25” ซึ่งเพิ่งจะได้รับการพัฒนาสายพันธุ์เมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้ …ซึ่งจากจุดนี้นี่เองที่เป็น “ปัจจัยสำคัญ” ทำให้ “ข้าวของชาติอื่นได้เปรียบข้าวหอมมะลิของไทย” ในเวทีนี้

ทาง ผศ.ดร.พรชัย สะท้อนไว้อีกว่า… ปัญหาที่ทำให้ “ข้าวหอมมะลิไทยเสียแชมป์” เกิดจากข้าวที่ไทยส่งประกวด เป็นข้าวที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มานานกว่า 60 ปีแล้ว เนื่องจาก ไทยไม่กล้าส่งข้าวสายพันธุ์ใหม่ ๆ เข้าประกวด ขณะที่ข้าวชาติอื่น ๆ เป็นข้าวที่เพิ่งถูกพัฒนาใหม่ ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบชาติอื่น ๆ ซึ่ง “ความพ่ายแพ้” ครั้งนี้ สะท้อนว่า…รัฐบาลจำเป็นต้องอัดฉีดงบวิจัยเพื่อช่วยให้ข้าวไทยเกิดการพัฒนามากขึ้น อีกทั้ง ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาให้ข้าวไทยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้มากขึ้น กับ พัฒนาให้ข้าวไทยสอดคล้องความต้องการตลาด …นี่เป็นคำแนะนำน่าคิด

ขณะที่ “ปัจจัยด้านราคา” ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ “ข้าวไทยเผชิญปัญหา” เนื่องจากตลอดเวลาหลายปีมานี้ข้าวไทยมีแนวโน้มราคาตกต่ำลงเรื่อย ๆ กล่าวคือ… ราคาข้าวหอมมะลิไทยนั้น ในอดีตเคยราคาสูงถึง 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แต่มาถึงปัจจุบันราคาลดลงเหลือเพียง 750-780 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเท่านั้น ทั้งนี้เป็นผลมาจาก “สมรภูมิข้าวโลก” ที่ต่างก็หันมา “เน้นแข่งขันด้านราคา” จนส่งผลทำให้ “ไทยต้องลดราคาข้าวลงมา” เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้…

ทั้งที่ “คุณภาพข้าวหอมไทยไม่ได้ลดลง”

“สำหรับเกษตรกรนั้น ไม่ได้กังวลเรื่องการประกวด หรือการเป็นแชมป์ จริงอยู่ว่าการชนะในทุก ๆ ปีหรือการที่ข้าวไทยถูกเอ่ยถึงในการแข่งขันจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ข้าวไทย แต่เหนืออื่นใดสิ่งที่เกษตรกรไทยเขาต้องการคือ การมีพันธุ์ข้าวที่ได้ผลผลิตสูง แข็งแรงทนทาน และเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า ซึ่งถ้าไทยจะพัฒนาข้าว ส่วนตัวมองว่าจำเป็นที่ต้องทำเป็นระบบ ทั้งเรื่องของการวิจัย การหาตลาด รวมถึงการช่วยลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร เพื่อทำให้เขาอยู่ได้” …นี่เป็นอีกส่วนจากที่ ผศ.ดร.พรชัย หาระโคตร สะท้อนไว้ถึง “ปัญหาข้าวไทย”

“เรื่องข้าว” นั้น ไทยมีการบ้านหลายข้อ”

“การบ้านข้อใหญ่” ก็ มิใช่การประกวด”

แต่…คือชีวิตที่ดีขึ้นของคนปลูกข้าว!!”.