พรรคเอ็นแอลดี ซึ่งนำโดย นางออง ซาน ซูจี วัย 77 ปี ได้รับชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อเดือน พ.ย. 2563 โดยได้ที่นั่ง 396 ที่นั่ง จากทั้งหมด 476 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม กองทัพกล่าวหาว่า มีการโกงการเลือกตั้ง และยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารในอีก 3 เดือนต่อมา

กำหนดเวลาภายใต้กฎหมายการเลือกตั้งฉบับใหม่ ซึ่งบัญญัติโดยรัฐบาลทหารเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อวางรากฐานสำหรับการเลือกตั้ง ได้รับการออกแบบมาเพื่อกระชับอำนาจของกองทัพเมียนมา โดยองค์กรสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์” (เอชอาร์ดับเบิลยู) ระบุว่า ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ พรรคการเมืองต่าง ๆ จะต้องลงทะเบียนภายในระยะเวลา 60 วัน นับจากวันที่ประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว มิฉะนั้นจะเสี่ยงต่อการถูกยุบ และการถูกตัดสิทธิทางการเมือง อีกทั้งอาจถูกขึ้นบัญชีว่าเป็น “สมาคมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือองค์กรก่อการร้ายภายใต้กฎหมายใด ๆ ที่มีอยู่”

ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายฉบับใหม่ยังห้ามไม่ให้ผู้ที่มีความผิดในคดีอาญา หรือรับโทษจำคุก เข้าร่วมพรรคการเมือง ซึ่งเท่ากับเป็นการกีดกันนางออง ซาน ซูจี และสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีอีกจำนวนมากไปโดยปริยาย

อนึ่ง กฎหมายดังกล่าวเป็นความพยายามอย่างชัดเจน ในการทำให้แน่ใจว่า การเลือกตั้งตามแผนของรัฐบาลทหาร ซึ่งมีกำหนดในเดือน ส.ค. 2566 จะเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ดังที่องค์กรอินเทอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป ระบุว่า การเลือกตั้งมีจุดมุ่งหมายเพื่อแทนที่ชัยชนะของพรรคเอ็นแอลดี เมื่อปี 2563 ควบคู่ไปกับการรักษาอำนาจของกองทัพ

อีกด้านหนึ่ง ชาติตะวันตกประณามการประกาศยุบพรรคการเมืองในเมียนมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า การเลือกตั้งตามแผนของรัฐบาลทหาร “ไม่สามารถมองได้ว่า เสรี หรือยุติธรรม” ขณะที่บรรดาพันธมิตรของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร, สหภาพยุโรป (อียู), เยอรมนี, แคนาดา และญี่ปุ่น ต่างแสดงความกังวลเช่นเดียวกัน

กระนั้น การยุบพรรคเอ็นแอลดี ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อทิศทางทางการเมืองของเมียนมา เพราะความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มความขมขื่นของประชาชน ที่มีต่อรัฐบาลทหาร แม้ความรุนแรงทางการเมือง และความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ยาวนานกว่า 2 ปี จะทำให้สาธารณชนชาวเมียนมาโกรธเคืองจนเกินจุดเดือดอยู่แล้วก็ตาม

ต่อให้พรรคเอ็นแอลดียังคงสามารถดำเนินการได้ แต่มันก็เป็นเรื่องยากที่จะตกลงมีส่วนร่วมกับกระบวนการเลือกตั้ง ตามเงื่อนไขของรัฐบาลทหาร เพราะก่อนหน้านี้ พรรคเอ็นแอลดีประกาศจุดยืน “คัดค้านหัวชนฝา” ในการเข้าร่วมการเลือกตั้งที่จัดโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งมีแต่จะยิ่งโหมไฟความขัดแย้งภายในประเทศให้ลุกโชนทวีคูณ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES