สัปดาห์ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมคณะผู้บริหาร นำสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี นั่งเรือตรวจการณ์เจ้าท่า ที่ท่าเทียบเรือกองบริการ ท่าเรือแหลมฉบัง เดินทางไปยังท่าเรือท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (จุกเสม็ด) เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานทางด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมเจ้าท่า (จท.) โดยได้ตรวจสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และการพัฒนาชายฝั่งทะเล ในโอกาสนี้ได้เยี่ยมชมเรือ Ro-Ro “The Blue Dolphin” ของบริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด ซึ่งเดินเรือเฟอรี่ข้ามภูมิภาคเส้นทางระหว่าง จ.ชลบุรี-จ.สงขลา ด้วย

การตรวจติดตามงานในครั้งนี้ รมว.คมนาคม บอกว่า ขณะนี้เกิดปัญหาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจำนวนมากยังไม่ได้รื้อถอน ซึ่งทางสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา รายงานให้ทราบว่า จากการตรวจสอบโดยนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศมาใช้เป็นเครื่องมือ พบว่า มีสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ 1,360 รายการ 

แบ่งเป็น

  • 1. สิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่แจ้งการครอบครองตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 32/2560 จำนวน 1,307 รายการ,
  • 2.ขออนุญาต และตรวจพบตาม พ.ร.บ.การเดินเรือฯ 53 รายการ,
  • 3.สิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ได้รับอนุญาต 453 รายการ,
  • 4.สิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่ได้รับอนุญาต 247 รายการ                 
  • 5.สิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ 352 รายการ และ
  • 6.สิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณา 308 รายการ 

ที่ผ่านมา จท. ได้ประชุมคณะทำงานเพื่อบังคับให้มีการรื้อถอน หรือแก้ไขสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามคำพิพากษา หรือคำสั่งให้รื้อถอนหรือแก้ไขสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามข้อกฎหมายที่ถูกต้อง แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถรื้อถอนได้ เนื่องจาก จท. ไม่ได้รับงบประมาณในการดำเนินการส่วนนี้ โดยเมื่อปีงบประมาณ 64 จท. ได้ของบราว 100 ล้านบาท แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ จึงมอบให้ จท. จัดทำรายละเอียดเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 21 ธ.ค.64 พิจารณาอีกครั้ง ระหว่างนี้ให้ จท. สอดส่องดูแลไม่ให้มีสิ่งรุกล้ำลำน้ำเพิ่มเติม

นอกจากนี้ได้ติดตามการพัฒนาชายฝั่งทะเล โดย จท. กำลังเสริมทรายชายหาด (Beach Nourishment) เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะ และฟื้นฟูชายหาด ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ประเทศ การลงทุนเสริมชายหาดจะได้ผลตอบแทนกลับมาถึง 37 เท่า เริ่มดำเนินการแล้วบนชายหาดพัทยา จ.ชลบุรี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร (กม.) ตั้งแต่ชายหาดพัทยาเหนือ หน้าโรงแรมดุสิตธานี ถึงชายหาดพัทยาใต้ บริเวณวอล์คกิ้ง สตรีท แล้วเสร็จปี 62  ปัจจุบันกำลังเสริมทรายชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี ระยะทาง 3.6 กม. จะแล้วเสร็จกลางปี 65

ขณะเดียวกันเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาบริเวณพื้นที่ชายหาดบางเสร่ ใช้งบประมาณ 18 ล้านบาท ศึกษา 9 เดือน ซึ่งมอบให้บูรณาการกับกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท(ทช.) เพื่อทำถนนสนับสนุนการเดินทางด้วย ทั้งนี้ จท. มีแผนเสริมทรายชายหาดท่องเที่ยวภายใน 10 ปีข้างหน้า อาทิ ชายหาดบางแสน, สมิหลา, ชะอำ, เขาหลัก, อ่าวดงตาล, แสงจันทร์, ปราณบุรี และทรายรี ใช้งบประมาณ 5,400 ล้านบาท ระยะทางรวม 42 กม. ได้เน้นย้ำให้คำนึงถึงเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย  

พร้อมกันนี้ได้เร่งผลักดัน โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญกีฬา (Marina) บริเวณชายฝั่งอ่าวไทย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงที่เดินทางด้วยเรือสำราญ เรือยอชท์ ซึ่งปัจจุบันยังมีท่าเรือมาริน่าอยู่อย่างจำกัด และกระจุกตัวอยู่ทางด้านชายฝั่งอันดามัน จึงต้องเร่งพัฒนาท่าเรือมาริน่าบริเวณชายฝั่งอ่าวไทย 

เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำในภูมิภาค ปัจจุบันในพื้นที่ชลบุรีมีท่าเรือมาริน่าอยู่แล้ว 1 แห่งเป็นของเอกชน ทั้งนี้ได้มอบให้ จท. เร่งดำเนินการศึกษาออกแบบเรื่องนี้ โดยบูรณาการร่วมกับ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

กระทรวงคมนาคม ยังมีนโยบายให้เร่งพัฒนาโครงการสำคัญ เพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นประตูการค้า เชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก และตะวันตก ให้เชื่อมต่อและขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และภาคตะวันออกสู่ภาคใต้ด้วย

 โดยอยู่ระหว่างจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ 2 เส้นทาง ได้แก่ การเดินเรือภายในประเทศ (Domestic Marine Line) เชื่อมโยงการเดินทางอ่าวไทย ซึ่ง จท. ร่วมกับ บริษัท ซีฮอาร์สเฟอร์รี่ จำกัด นำเรือ Ro-Ro “The Blue Dolphin” ทดลองเปิดให้บริการเส้นทางท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (จุกเสม็ด) จ.ชลบุรี – ท่าเรือเซาท์เทิร์น แล้ว

ส่วนการเดินเรือในระดับ International แบ่งเป็น สายการเดินเรือฝั่งตะวันออกตั้งแต่กัมพูชา เวียดนาม เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และฝั่งตะวันตก ได้แก่ แอฟริกา ยุโรป และกลุ่ม BIMSTEC บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล และศรีลังกา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 2 ปี 65 

อีกโปรเจคท์ที่สำคัญคือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน (Land Bridge) ระหว่าง จ.ชุมพร-จ.ระนอง ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่าแสนล้านบาท ให้เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงยังส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางน้ำด้วยตู้คอนเทเนอร์ โดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ให้มีขีดความสามารถรองรับตู้ส่งสินค้าได้มากขึ้น

นายศักดิ์สยาม กล่าวย้ำว่า กระทรวงคมนาคม ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วประเทศอย่างบูรณาการ ทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งของอาเซียน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ให้กับประชาชน

หากพัฒนาศักยภาพ ”ทางน้ำ” ให้ทรงพลัง ก็ไม่ยากที่ “ไทย” จะเป็นฮับคมนาคมขนส่งของอาเซียน

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง