องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) เป็นสหภาพทางทหารขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งเมื่อปี 2492 ปัจจุบันมีสมาชิก 30 ประเทศ แบ่งเป็นสมาชิกในยุโรป 28 ประเทศ และ 2 ประเทศในอเมริกาเหนือ คือ สหรัฐและแคนาดา

ทั้งนี้ นาโตก่อตั้งในสมัยสงครามเย็น โดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจน คือการตอบสนองต่อ “ภัยคุกคาม” จากสหภาพโซเวียต ซึ่งก็คือรัสเซียในปัจจุบัน บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับนาโตตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึง “จุดแตกหัก” เมื่อกองทัพรัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในเหตุผลของรัฐบาลมอสโก คือการที่นาโต “ไม่รักษาสัจจะและคำมั่นสัญญา”

รัสเซียกล่าวว่า นาโตให้คำมั่นกับรัฐบาลมอสโก เมื่อช่วงยุคทศวรรษที่ 1990 ว่าจะไม่ขยายขอบเขตของการรับสมาชิกใหม่ เข้าสู่กลุ่มประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต และประเทศที่เคยเป็นภาคีของกติกาสัญญาวอร์ซอ

นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต

อย่างไรก็ตาม นาโตเปิดประตูอ้าแขนรับแทบทุกประเทศซึ่งเคยมีความเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทั้งสองข้อ ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี โปแลนด์ บัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โรมาเนีย สโลวาเกีย และสโลวีเนีย

จนมาถึงระดับที่รัสเซียถือว่า “เป็นฟางเส้นสุดท้าย” นั่นคือ การที่นาโตกล่าวกับจอร์เจียและยูเครน ว่าทั้งสองประเทศจะได้รับโอกาสให้เข้าเป็นสมาชิกนาโต “ในสักวันหนึ่ง” ซึ่งรัฐบาลมอสโกยื่นคำขาดโดยเฉพาะกรณีของยูเครน ประเทศที่ตอนนี้ถือเป็น “หน้าบ้าน” ของรัสเซีย และมีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกันตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต ว่าหากประเทศขนาดเล็แห่งนี้มีความสัมพันธ์กับนาโตเมื่อไหร่ “ทุกอย่างเป็นอันจบ”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนถึงการประชุมใหญ่นาโต ที่กรุงบูคาเรสต์ เมืองหลวงของโรมาเนีย ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เชิญนายวิลเลียม เบิร์นส เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงมอสโก เข้าพบและกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ว่าไม่มีทางที่ผู้นำรัสเซียคนใดจะทนอยู่เฉยได้ กับการที่ยูเครนเข้าใกล้การเป็นสมาชิกนาโต ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ถือเป็นการข่มขู่คุกคามรัสเซียอย่างร้ายแรง ปัจจุบัน เบิร์นสดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง ( ซีไอเอ )

จนถึงขณะนี้ นาโตยังไม่เคยประกาศอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับ “เจตจำนง” ในการพิจารณารับยูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิก แต่นาโตยังคง “ไม่รักษาสัจจะลูกผู้ชาย” กับรัสเซียอีก ด้วยการรับแอลเบเนียและโครเอเชียเป็นสมาชิก เมื่อปี 2552 ตามด้วยการขยายอาณาเขตสองคครั้งล่าสุด ด้วยการรับมอนเตเนโกรเป็นสมาชิก เมื่อปี 2560 และสมาชิกล่าสุดคือ นอร์ทมาซิโดเนีย หรือมาซิโดเนียเหนือ เมื่อปี 2563

นาวิกโยธินสหรัฐเข้าร่วมการฝึกซ้อมรบ “โคลด์ เรสพอนซ์ 2022” ของนาโต ที่นอร์เวย์

ปูตินเคยแสดงความกังขาและสงสัย เกี่ยวกับการที่นาโตขยายอาณาเขตอย่างรวดเร็ว ว่าจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นจะสอดคล้องเพียงใดกับประสิทธิภาพของนาโต ในการตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นภัยจากการก่อการร้าย และความขัดแย้งด้านอาวุธ ขณะที่สมาชิกใหม่ในระยะหลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสมาชิกบอลติก มีท่าทีค่อนข้างชัดเจน ว่าต้องการเป็นสมาชิกนาโตเพื่อใช้เป็นโล่กำบังจากรัสเซีย

นอกจากนี้ ผู้นำรัสเซียยังเคยกล่าวอีกว่า การขยายอาณาขตของนาโตที่หมายถึงการเพิ่มจำนวนสมาชิก ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในทางใดเลย กับการปฏิรูปสหภาพทางทหารแห่งนี้

สงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนนั้น ยากที่จะปฏิเสธว่านาโตไม่มีความเกี่ยวข้อง แม้พยายามแสดงออกในทางตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธเป็นผู้ประกาศเขตห้ามบิน ที่ในทางกฎหมายระหว่างประเทศไม่ถือว่า นาโตมีอำนาจชอบธรรมในเรื่องนี้อยู่แล้ว เนื่องจากผู้ที่มีอำนาจมีเพียงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) เท่านั้น

การที่นาโตย้ำหนักแน่น ว่าไม่มีนโยบายส่งทหารเข้าไปในยูเครน อาจสะท้อน “ความหวาดหวั่น” แต่อย่างน้อยยังเป็นสัญญาณเชิงบวกได้บ้าง ว่าสถานการณ์สู้รบบจะยังคงจำกัดขอบเขต อยู่เฉพาะภายในยูเครน

อย่างไรก็ตาม การที่นาโตยังคงเดินหน้าอัดฉีดงบประมาณ และส่งมอบอาวุธให้แก่ยูเครนอยู่เป็นระยะ ยังคงเป็นความเคลื่อนไหวของนาโตที่บ่งชี้ชัดเจน ว่าท้ายที่สุดแล้ว หนทางระหว่างนาโตกับรัสเซีย “ไม่มีทางบรรจบกัน” ตามนโยบายพื้นฐานของนาโตตั้งแต่ก่อตั้ง และมุมมองของรัสเซียที่มีต่ออีกฝ่าย ว่าไม่อย่างไรก็คือ “ศัตรูตลอดกาล”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS