เมื่อพูดถึง “มะเร็ง” หลายๆ คนคงจะทราบกันดีว่าเป็นโรคร้าย ที่สามารถคร่าชีวิตคนที่คุณรักเป็นอันดับต้นๆ ที่คนไทยต่างคุ้นหู แต่ยังมีภัยเงียบอีกสิ่งหนึ่งเลยก็คือ “มะเร็งเต้านม” ที่อันตรายถึงชีวิต หากตรวจพบเมื่อสายไป

โดยในวันนี้ พญ.วีรนุช รัตนเดช อายุรแพทย์โรคมะเร็ง ประจำศูนย์มะเร็งพิษณุเวชฮอไรซัน โรงพยาบาลพิษณุเวช ในเครือพริ้นซิเพิลเฮลท์แคร์ ด้วยความร่วมมือกับบำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก ได้เผยข้อมูลผ่าน Healthy Clean ถึงการตรวจคัดกรอง และการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ดังนี้

สำหรับคำถามทั่วไป ที่ทุกคนจะนึกถึงก็คือ “หากเราตรวจพบมะเร็งเต้านม ขั้นตอนการรักษาแรกคืออะไร?” หลังจากการตรวจพบก้อนที่เต้านมด้วยตัวเอง หรืออาจเป็นการตรวจพบจากการตรวจคัดกรองด้วยการทำแมมโมแกรมก็ตาม ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจยืนยันวินิจฉัยด้วยการเอาชิ้นเนื้อออกมาตรวจ เพื่อยืนยันว่าก้อนที่พบดังกล่าวคือเซลล์มะเร็งเต้านม จากนั้นแพทย์จะทำการวินิจฉัยว่ามะเร็งเต้านมนั้นอยู่ในระยะใด

สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะหลักๆ ได้แก่
ระยะเริ่มต้น: ตัวโรคยังอยู่บริเวณเต้านมเป็นหลัก สามารถทำการผ่าตัดรักษา และมีโอกาสหายขาดสูงมาก
ระยะลุกลาม: ตัวโรคมีการกระจายไปยังบริเวณต่อมนำ้เหลืองข้างเคียง การรักษาอาจมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยอาจจะมีการรักษาด้วยการให้ยา การผ่าตัด และการฉายแสง
ระยะกระจาย: ตัวโรคมีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ นอกเต้านม การรักษาจะใช้ยาเป็นหลักในการรักษา

โดยปกติแล้ว วิธีการรักษาจะขึ้นกับลักษณะชิ้นเนื้อและระยะของโรคมะเร็งเต้านมเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น ในระยะเริ่มต้น การรักษาสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเป็นหลัก และอาจมีการรักษาอื่นๆ เช่น การให้ยาเคมีบำบัด การให้ยาต้านฮอร์โมน การให้ยามุ่งเป้า หรือการฉายแสง เข้ามาเสริม เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านม

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบัน เรามีการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านมหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโดยการผ่าตัดเต้านมทั้งเต้า การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม หรือการผ่าตัดและเสริมเต้านมไปในเวลาเดียวกัน เพื่อเป็นการคงภาพลักษณ์ความงามซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อจิตใจ

เมื่อผ่าตัด สิ่งที่เรานำเอาออกไปคืออะไร?.. หลักๆ เราต้องผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออกให้ได้ทั้งหมด ไม่เหลือแม้แต่เซลล์เล็กเซลล์น้อย โดยก้อนมะเร็งอาจมีขนาดตั้งแต่ระดับมิลลิเมตร ไปจนถึงขนาดหลายเซนติเมตร หากวินิจฉัยพบจากการตรวจคัดกรอง โดยมากก้อนมะเร็งมักจะยังมีขนาดเล็ก ซึ่งจะสามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมาตรวจตอนที่เริ่มมีอาการ เช่นเริ่มคลำก้อนได้เองแล้ว โดยมากก้อนมะเร็งจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ซึ่งอาจจะทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากขึ้น

แล้วแบบไหนที่เราต้องทำการรักษาโดยการตัดเต้านมทิ้ง? หากก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก และยังไม่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ศัลยแพทย์ก็จะสามารถทำการผ่าตัดรักษาแบบสงวนเต้านมได้ แต่หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่หรือมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงแล้ว ก็จะมีการให้ยาเคมีบำบัดก่อน เพื่อให้ก้อนมีขนาดเล็กลง และทำให้ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดได้โดยง่ายขึ้น หรือแม้กระทั่งสามารถทำการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีข้อจำกัดอื่นๆ ที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องตัดเต้านมทั้งเต้า ทั้งนี้ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์เป็นหลัก

ผ่าตัดแล้วต้องทำอย่างไรต่อ?.. หลังจากเข้ารับการผ่าตัดแล้ว แพทย์จะต้องทำการวิเคราะห์ลักษณะของก้อนมะเร็งที่ผ่าตัดออกมา ว่าคนไข้รายนั้นๆ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาเสริมด้วยอะไรบ้าง เช่น มีความจำเป็นต้องได้รับยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน ยามุ่งเป้า หรือการฉายแสงหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล เนื่องจากแพทย์จำเป็นต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ ลักษณะของมะเร็ง อายุของคนไข้ สภาพความแข็งแรงของร่างกาย โรคประจำตัว เพื่อนำมาพิจารณาว่าคนไข้คนใดเหมาะสมกับการรักษาเสริมแบบใด

แต่หากเป็นช่วงที่ “มะเร็งเต้านม” ลุกลามไปแล้ว จะทำอย่างไรต่อนั้น หากเป็นกรณีที่โรคลุกลามเฉพาะที่ เช่น ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ หรือกระจายไปต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงค่อนข้างเยอะ การรักษาอาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้น แพทย์จะต้องทำการประเมินว่าควรให้การรักษารูปแบบใด หรือวิธีใดก่อน ยกตัวอย่างเช่น หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มาก อาจจะต้องให้ยาเพื่อให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงก่อน แล้วจึงทำการผ่าตัด เป็นต้น

กรณีที่โรคมะเร็งลุกลามไปที่อวัยวะอื่นๆ การรักษาอาจจะไม่สามารถทำให้ตัวโรคหายขาดได้ แต่การรักษาจะมุ่งหวังให้คนไข้ทุเลาอาการจากตัวโรค และสามารถมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยการรักษาก็มีหลายวิธี เช่น การใช้ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน ยามุ่งเป้า การฉายแสง ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ว่าการรักษาใดเหมาะสมที่สุดในขณะนั้น

ปัจจุบัน เนื่องจากว่าเรามีแนวทางการรักษาหลายแบบ ทำให้ “เวลาในการรักษาแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล และระยะของโรค ขึ้นกับว่าคนไข้แต่ละคนจำเป็นต้องได้รับการรักษาชนิดใดบ้าง” ตัวอย่างเช่น มะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น หลังทำการผ่าตัดแล้ว หากคนไข้มีความจำเป็นต้องรับการรักษาต่อโดยการใช้เคมีบำบัด ต้องใช้เวลาในการให้ยา 3-6 เดือน หลังจากนั้นถ้ามีความจำเป็นต้องเข้ารับการฉายแสง ก็ต้องใช้เวลาในการฉายแสงต่ออีก 1-2 เดือน และถ้าจำเป็นต้องได้รับยาต้านฮอร์โมน ก็ต้องกินยาไปอีกประมาณ 5 ปี เป็นต้น

หลายๆ คนคงจะสงสัยว่า หากป่วยเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว จะกลับมาเป็นซ้ำอีกไหม ในส่วนนี้ แพทย์จะนัดติดตามอาการอย่างน้อยเป็นเวลาประมาณ 5 ปี หลังจากนั้นอาจจะนัดดูห่างๆ เช่นปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากตัวโรคอาจจะกลับมาเป็นซ้ำได้ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ คนไข้ต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอๆ ว่ามีอาการผิดปกติใดหรือไม่ เช่น คลำเจอก้อนตรงบริเวณเต้านม รักแร้ หรือ มีอาการเหนื่อย หอบ ไอ ปวดตามตัว กระดูก แขนขาอ่อนแรง หรืออาการผิดปกติใดๆ ก็ตาม เนื่องจากอาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณของการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง และเป็นอาการของการที่มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้

สำหรับประชาชนทั่วไป หากตรวจคัดกรองด้วยการคลำเต้านมด้วยตนเองแล้วพบความผิดปกติ ควรรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์โดยเร็ว หรือเมื่ออายุถึงเกณฑ์เข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมก็ควรรีบเข้ารับการตรวจ “เนื่องจากการตรวจพบมะเร็งในระยะแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยง่าย”

สำหรับคนไข้โรคมะเร็งเต้านมที่กำลังเข้ารับการรักษา ไม่ควรท้อแท้กับรักษา เนื่องจากแนวทางการรักษาในปัจจุบันพัฒนาไปมาก การรักษาได้ผลค่อนข้างดี และผลข้างเคียงในการรักษาก็น้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต เมื่อมีปัญหาใดในการรักษา สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลท่านอยู่ได้เสมอ

และที่สำคัญ หากเรามีการ “ตรวจเต้านมด้วยตนเอง” และการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม รวมถึงการรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ หากพบอาการผิดปกติ ถือเป็นการลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมได้อีกด้วย…

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”