นอกจากได้พูดคุยแล้ว “ลุงเปิ้ล” นำกิจกรรมวาดภาพไม่เหมือนที่เคยจัดในเรือนจำ มาจำลองให้ผู้ฟังในวันนั้นได้จับคู่ พูดคุย และวาดหน้าของฝั่งตรงข้าม ผมเองก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมนั่นด้วย ถือเป็นการวาดรูปสีอะคริลิกครั้งแรกในชีวิตของผมและได้ทำความรู้จัก “คุณมะโหนก” คู่วาดรูปของผม ผมประทับใจกิจกรรมนั้น จึงขอมาสัมภาษณ์ลุงเปิ้ลเพิ่มเติม

เรียนคณะสังคมวิทยา แชมป์โต้วาทีระดับประเทศ แต่ทำงานด้านการผลิตรายการทีวี

ลุงเปิ้ลเล่าให้ฟังว่าเอนทรานซ์ปีแรก เลือกแต่คณะแพทย์หมดเลย แล้วเอนท์ไม่ติด จึงออกแนวเกเร ไม่เรียน แล้วจู่ ๆ ก็อยากเอนท์ใหม่ แต่เหลือเวลาเพียงแค่ 2 เดือนจึงเลือกคณะที่อยากเรียนและติดที่คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลือกเรียนมานุษยวิทยาซึ่งเอกนี้มีคนเรียนน้อยมากเพราะมันยาก ในรุ่นมีเพื่อนเรียนเพียง 5 คน ซึ่งลุงเปิ้ลชอบเพราะสอนให้เข้าใจมนุษย์โดยไม่ต้องไปตัดสินเขา แค่ไปศึกษาและเข้าใจปรากฏการณ์ตรงนั้นเพียงแค่นั้น ไม่ต้องหาทางช่วยเหลือและสงเคราะห์ ซึ่งการเรียนด้านนี้ตรงกับนิสัยของตัวเอง

กิจกรรมในระหว่างเรียน ลุงเปิ้ลอยู่ในชุมนุมปาฐกถาและโต้วาที ได้เข้าไปแข่งในรายการทีวีวาที “โต้วาทีอุดมศึกษา” ของคุณกรรณิกา ธรรมเกษร ลุงเปิ้ลจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แชมป์ของปีที่ 2 (ปีแรกเป็นของ พี่ซุป-วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ขณะที่ยังเรียนอยู่ได้มาทำงานด้านการผลิตรายการทีวีกับบริษัท ภาษร โปรดักชั่น ของคุณกรรณิกา ลุงเปิ้ลทำได้เพราะความเป็นนักพูดต้องวางแผนว่าส่วนไหนควรอยู่ก่อนและหลัง ต่อมาเรียนจบก็ไปร่วมงานกับพี่ซุป ทำบริษัทซูเปอร์จิ๋วตั้งแต่เริ่มต้นและยังทำให้อยู่จนปัจจุบัน แต่ก็แยกออกมาทำบริษัทผลิตรายการทีวีของตัวเองให้กับช่อง Thai PBS และเอเจนซี่ออนไลน์ด้านคอนเทนต์ชื่อ 3344 (เลขท้ายโทรศัพท์)

จุดเริ่มต้นจากการถ่ายรูปและรู้จักกับครูโต

งานอดิเรกที่นอกเหนือจากการทำงานคือ ชอบการถ่ายรูป ลุงเปิ้ลชอบถ่ายรูปคน ซื้ออุปกรณ์และซื้อเลนส์มาทุกระยะ จนวันหนึ่งครูโต (ม.ล.จิราธร จิรประวัติ) มาชวนว่าถ้าชอบถ่ายรูปต้องมาเรียนวาดรูป แรก ๆ ลุงเปิ้ลลังเลเพราะลูกศิษย์ครูโตมักจะมีแต่ไฮโซ ลุงเปิ้ลจะแนวลุย ๆ หน่อย คิดว่าไม่น่าจะเรียนได้ คิดวนอยู่ 3 รอบว่าจะไปเรียนกับครูดีไหม จนในที่สุดลุงเปิ้ลได้รู้จักครูโต ชอบวิธีการสอนแบบไม่สอนของครูโต ลุงเปิ้ลบอกว่า ครูโตไม่เคยสอนให้วาดตาม ไม่เคยสอนว่าสีไหนต้องผสมกับสีไหน ครูสอนให้เราเป็นตัวของตัวเอง ชอบงานที่เราได้ทำ ไม่ต้องไปถามคนอื่นว่าสวยหรือไม่ เมื่อลุงเปิ้ลใกล้ชิดกับครูโตมากขึ้นก็ซึมซับความเป็นระเบียบและพิถีพิถันของครูมาด้วย แต่ก่อนไม่เคยจัดบ้าน ตอนนี้ชอบจัดบ้านให้สวยเป็นระเบียบ แต่ก่อนที่เคยกินอะไรก็ได้ ง่าย ๆ เร็ว ๆ ครูโตสอนให้เรากินอร่อยและรู้ว่าความอร่อยมาจากอะไร

วาดภาพไม่เหมือน แต่วาดภาพทุกวัน

ตั้งแต่วาดรูปกับครูโต ลุงเปิ้ลก็ไม่ได้ถ่ายรูปอีกเลย (วาดรูปมาตลอด 10 ปี) เมื่อครูบอกว่าวาดรูปที่เราพอใจ ลุงเปิ้ลเริ่มจากวาดคนที่รู้จักก่อน เช่น เพื่อนฝูง เวลาเพื่อนมาเห็นรูปตัวเองก็จะบอกว่าไม่เห็นเหมือนเลย (แต่เพื่อนคนอื่นทายถูก) ลุงเปิ้ลก็จะออกตัวว่า “ก็วาดภาพไม่เหมือนไง” จนกลายมาเป็นชื่อว่า “ลุงเปิ้ล ภาพไม่เหมือน”

ผมจำได้ว่าลุงเปิ้ลเคยเปิดสมุดวาดรูป แล้วให้ผู้ชมในนิทรรศการทาย ทุกคนทายถูกหมด ลุงเปิ้ลเล่าว่า มีรุ่นพี่บอกว่าชอบงาน แต่ช่วยวาดคนที่รู้จักให้ดูหน่อย ช่วงนั้นจึงฝึกวาดคนดัง จนจับจุดได้ว่าคนดังจะมีหน้าตาและคาแรกเตอร์ที่โดดเด่น วาดไปเรื่อย ๆ จนเต็มเล่ม ได้ซีรีส์ FAMOUS มา 200 กว่ารูป

ลุงเปิ้ลบอกว่าครูโตวาดรูปทุกวัน ลุงเปิ้ลก็พยายามจะวาดรูปให้บ่อยที่สุด เริ่มจากวาดโดยใช้ดินสอแท่งเดียวเป็นเวลา 2 ปีแบบไม่ลงสี แล้วค่อย ๆ หาแนวที่ตัวเองชอบ จนกระทั่งวันที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคตค ตอนนั้นลุงเปิ้ลอยู่ประเทศสิงคโปร์และคิดถึงพระองค์ท่าน ลุงเปิ้ลวาดรูปในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทุกวันเป็นเวลาหนึ่งปี มีคนขอรูปบางส่วนเป็นภาพประกอบในหนังสือกวีที่เกี่ยวกับพระองค์ท่าน

หลังจากนั้นลุงเปิ้ลวาดรูปทุกวันจริง ๆ เริ่มจากมีสมุดขนาดที่พกพาได้ มีดินสอและกล่องสีอยู่ในกระเป๋าตลอดเวลา จากวาดภาพลายเส้นด้วยดินสอ ก็ขยับมาระบายสีอะคริลิก ล่าสุดลุงเปิ้ลวาดใน iPad วาดได้เร็วและปรับแก้ได้ ผมขอให้ลุงเปิ้ลวาดรูปหน้าผม ลุงเปิ้ลใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็วาดรูปและลงสีเสร็จแล้ว

ลุงเปิ้ลบอกว่าไม่เคยเรียกตัวเองว่าศิลปิน เป็นแค่เพียงคนชอบวาดรูป วาดเสร็จก็เก็บไว้ส่วนตัว ไม่เคยนำมาจัดแสดงใด ๆ

เข้าไปจัดกิจกรรมวาดรูปในเรือนจำ

รายการทีวีที่ลุงเปิ้ลทำส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นทางสังคม เช่น รายการ “นโยบาย By ประชาชน” วันหนึ่งต้องไปสัมภาษณ์ผู้หญิงโสเภณีที่ต้องการเสนอนโยบายให้งานขายบริการทางเพศเป็นอาชีพถูกกฎหมาย เพื่อเธอจะได้สิทธิประกันสังคม มีสวัสดิการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย แต่เมื่อลุงเปิ้ลไปถึงกลับไม่ได้ถ่ายทำ เพราะผู้หญิงคนนั้นบอกว่า “ถ้าพี่ถ่ายหนูแล้วเบลอหน้าหนูหรือให้หันหลัง หนูไม่ต้องการ หนูอยากให้พี่ถ่ายให้เห็นหน้าหนูเพราะหนูออกมาเรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง”

หรืออีกรายการไปสัมภาษณ์นักโทษประหาร ผู้ต้องขังยินดีที่จะให้ถ่ายทำแบบเปิดหน้าและเซ็นยินยอมเพราะเขาอยู่ในช่วงชีวิตสุดท้ายแล้ว แต่สุดท้ายสถานีไม่อนุญาตเพราะเคยมีผู้ต้องขังที่เคยเซ็นยินยอมแบบนี้ แต่ทางญาติไม่ยอม จะมาฟ้องร้องได้

ลุงเปิ้ลเก็บประเด็นเหล่านี้ไว้ในใจ จนมีอยู่วันหนึ่ง รุ่นพี่ลุงเปิ้ลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้เข้าทำไปทำงานในเรือนจำ ชวนลุงเปิ้ลเข้าไปทำงานด้วยกัน ลุงเปิ้ลสนใจเรื่องของคนอยู่แล้วจึงขอเข้าไปด้วย พร้อมกับประเด็นที่ทำไมถึงถ่ายให้เห็นหน้าไม่ได้ ลุงเปิ้ลคิดว่าถ้าถ่ายภาพไม่ได้ อย่างนั้นก็วาดภาพแล้วกันเพราะตัวเองก็วาดภาพไม่เหมือนอยู่แล้ว จะได้เล่าเรื่องของเขาได้ เพื่อให้เขามีตัวตน

แค่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าก็เพียงพอแล้ว

จากความตั้งใจที่จะเข้าไปวาดรูปผู้ต้องขัง แต่ ผบ. เรือนจำเข้าใจผิดคิดว่าลุงเปิ้ลจะไปสอนศิลปะ ลุงเปิ้ลจึงเปลี่ยนแนว โดยนำกระดาษวาดรูป พู่กัน สี และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปให้ผู้ต้องขังวาดรูป โดยมีกติกาว่าให้ผู้ต้องขังจับคู่กัน วาดหน้าของกันและกัน สอบถามกันว่าอยากใส่ชุดอะไรในภาพ ชอบเสื้อสีอะไร และกฎที่สำคัญที่สุดคือ วาดเสร็จแล้วไม่ต้องถามว่าคู่ของตัวเองหรือคนอื่นว่าภาพสวยหรือไม่ ไม่ต้องให้ใครมาตัดสิน ขอให้คนวาดชอบก็พอ

กิจกรรมนี้ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ผู้ต้องขังชื่นชอบมากเพราะไม่มีการบังคับหรือสอนว่าต้องวาดอย่างไร ปล่อยอิสระให้ผู้ต้องขังได้ผสมสีและวาดด้วยตัวเอง หลายคนไม่เคยวาดรูปมาก่อนและรู้จักสีอะคริลิคเป็นครั้งแรก (เหมือนผม) ตื่นเต้นและสนุกกับการทำงานศิลปะ อย่างไรก็ตาม อาจจะมีบางคนที่ไม่อยากวาด เขาอยากจะนั่งคุยและร้องเพลง (ลุงเปิ้ลเอากีต้าร์ไปเล่น) หรือจะนอนตลอด 3 ชั่วโมง ลุงเปิ้ลก็ไม่ว่า เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาพอใจ …มีผู้ต้องขังเดินมาบอกกับลุงเปิ้ลหลังจากจบกิจกรรมว่า “ขอบคุณการวาดภาพครั้งนี้ ทำให้เวลาของเขากลับมาเท่ากันกับคนอื่นอีกครั้ง” เขาอธิบายว่า เวลาที่อยู่ในเรือนจำมันช่างยาวนานและน่าเบื่อ แต่กิจกรรมนี้เขามีความสุขกับทุกช่วงเวลา เหมือนได้เวลาปกติของเขาคืนมา

เมื่อมีการระบาดของโควิด เรือนจำปิดไม่ให้คนนอกเข้า ลุงเปิ้ลก็ต้องหยุดกิจกรรมนี้ไป 2 ปีโดยปริยาย…มีการนัดพบเพื่อนสมัยที่เรียนมหาวิทยาลัยและได้พูดคุยถึงประเด็นนี้ขึ้นมา ทำให้ลุงเปิ้ลคิดทบทวนได้ว่า กิจกรรมวาดภาพไม่เหมือนในเรือนจำ คือการทำงานของนักมานุษยวิทยา ความตั้งใจที่จะไปวาดรูปผู้ต้องขัง สุดท้ายไม่ได้วาด ลุงเปิ้ลเข้าไปพูดคุยและให้พวกเขาวาดรูปกันเองและได้สร้าง Self Esteem ให้กับผู้ต้องขัง พวกเขาได้เห็นคุณค่าในตัวเองและชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่พวกเขาจะกลับเข้าสู่สังคมได้.

………………………………………..
คอลัมน์ : ก้อนเมฆเล่าเรื่อง
โดย “น้าเมฆ”
https://facebook.com/cloudbookfanpage