“ถ้าคุณเกลียดใคร คุณไม่ต้องสาปแช่งเขาหรอก คนเลว ๆ มีมากพอแล้ว เราอย่าเลวไปอีกคนหนึ่ง เราควรใช้ชีวิตของเราให้ดี การแช่งเขา เท่ากับเราเลวไปด้วย”

“ไม่ต้องไปจ่ายหรอกมันไม่มีผลอะไร”, “ไปชำระทำไมเสียเวลาจะตายไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรอก”, “จ่ายทำไม ไม่รู้หรือว่าตำรวจกับขนส่งเขาไม่ประสานงานกัน”

นี่คือประโยคที่ได้ยินบ่อยๆ เวลาผู้ขับขี่ใช้รถใช้ถนนทำผิดกฎจราจรแล้วโดนออกใบสั่ง ซึ่งสรุปรวมก็หมายถึงการที่ไม่เกรงกลัวที่จะโดนใบสั่ง ไม่กลัวที่จะทำผิดกฎจราจร ถึงขนาดที่บางคนถึงขั้นโพสต์โชว์โซเชียลด้วยซ้ำว่าสะสมใบสั่งไว้เพียบเลย

ด้วยทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามา มันทำให้ใบสั่งของตำรวจจราจรดูเป็นตัวตลกในสายตาคนที่ทำผิดกฎหมาย และน้อยมากที่จะยอมมาชำระค่าปรับตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก แถมพบว่ามีการเพิ่มจำนวนคนที่ไม่ยอมเสียค่าปรับมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและปัญหาจราจร

แต่ล่าสุดตำรวจได้กำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมายแล้วเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น แบ่งเป็น 6 ข้อหลักได้ดังนี้

1.เจ้าพนักงานจราจรออกใบสั่งให้ผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ทั้งแบบซึ่งหน้าและตรวจจับด้วยกล้องระยะเวลาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

2.กรณีผู้กระทำความผิดไม่มาชำระค่าปรับ เมื่อพ้นระยะเวลาจะออกใบเตือน จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายใน 15 วัน และต้องชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันรับแจ้ง

3.กรณีพ้นระยะในใบเตือนแล้วยังไม่มาชำระค่าปรับ นอกจากส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีแล้ว พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกให้มาชำระค่าปรับ หากไม่มาพบตามหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่เพื่อออกหมายจับ

4.กรณีถูกออกหมายเรียก หรือหมายจับ จะถูกแจ้งข้อหาตามใบสั่ง และแจ้งความผิดข้อหาตามมาตรา 155 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ม.141 (ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนดในใบสั่ง) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ในขั้นตอนนี้ผู้ต้องหาต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองที่สถานีตำรวจที่ออกหมายเรียก หมายจับ ไม่สามารถชำระผ่านช่องทางอื่นๆ ได้

5.ผลกรณีถูกออกหมายจับในคดีอาญาจะถูกบันทึกในฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตามหมายจับ, หากบุคคลที่มีหมายจับเดินทางออกนอกประเทศจะถูกจับ และเกิดความยากลำบาก, ถูกบันทึกในทะเบียนประวัติซึ่งอาจส่งผลต่อการประกอบอาชีพการทำงาน กรณีหน่วยงานสอบถามประวัติคดีอาญา และเกิดความยากลำบากและความน่าเชื่อถือในการทำนิติกรรม

6.กรณีผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองหรือถูกจับกุม และยินยอมเปรียบเทียบปรับให้คดีอาญาเลิกกัน ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยว่ามีใบสั่งค้างชำระหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ผ่านช่องทางใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน https://ptm.police.go.th/eTicket/#/

โดยมาตรการ 6 ข้อนี้ จะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะตรวจสอบใบสั่งไม่ตรวจอายุความ เน้นบุคคลกระทำความผิดซ้ำๆ บ่อยครั้งก่อน สำหรับคนที่จ่ายค่าปรับแล้วจะถูกถอนประวัติการดำเนินคดีหรือไม่นั้น การดำเนินการมีการแจ้งให้ชำระภายใน 7 วัน ตรวจสอบอีก 30 วัน

สรุปคือ หากกระทำผิดแล้วได้ใบสั่ง แต่ไม่ชำระค่าปรับ จะออกใบเตือน 1 ครั้ง หมายเรียก 2 ครั้ง ก่อนขอศาลออกหมายจับ อาจส่งผลถูกตำรวจจับกุมตัว และมีประวัติอาชญากรรม กระทบทำนิติกรรม สมัครงาน เดินทางไปต่างประเทศ

ขณะที่ นักกฎหมายก็มองว่า ตำรวจจะขอหมายจับประชาชนไม่จ่ายใบสั่งทุกคนทำได้ยาก เว้นบางรายผิดซ้ำซาก-ความผิดรุนแรง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล คาดตำรวจเพียงป้องปรามเท่านั้น

เอาล่ะ..ที่นี้คงต้องมารอดูกันว่าทางตำรวจจะบังคับใช้มาตรการนี้ได้เด็ดขาดและต่อเนื่องแค่ไหน แล้วจะถูกกระแหนะกระแหนว่าเป็นเสือกระดาษอีกหรือเปล่า ที่สำคัญมันจะเพียงพอที่จะทำให้ผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎจราจรเกรงกลัวการโดนใบสั่ง..ได้หรือไม่???

ตำรวจชุมชนสัมพันธ์

ตรวจเยี่ยม
พล.ต.ต.หัสชัย เรืองมาลัย รอง ผบช.ภ.4 พร้อมคณะเดินทางมาที่ สภ.ชุมแพ เพื่อตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ ตรวจสำนวนการสอบสวนคดีอาญา-จราจร และให้คำแนะนำการสอบสวนเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมี พ.ต.อ.รัตนสุข คำวงศ์ ผกก.สภ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น พร้อมข้าราชการตำรวจในสังกัดให้การต้อนรับ ก่อนนำเยี่ยมชมตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมกันนี้ได้กำชับมาตรการป้องกันเหตุประทุษร้ายต่อทรัพย์ ธนาคาร ร้านค้าทอง ร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน และตู้ ATM กำชับตำรวจทุกนายต้องให้ความสำคัญกับการปราบปรามยาเสพติด และคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอันขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม

ข้ามอย่างปลอดภัย
ตำรวจสอบสวนกลาง โดย บก.ทล.ภายใต้อำนวยการ พ.ต.ท.บดินทร์ ชูเฉลิม สว.ส.ทล.2 กก.4 บก.ทล.ขอนแก่น ได้สั่งการตำรวจทางหลวงทุกหน่วยในพื้นที่ให้บริการกับน้องๆที่ชุมแพ โดยมีด.ต.ชัยพร พลโพธิ์ หน.หน่วยบริการตำรวจทางหลวงชุมแพ เดินทางเข้าพบ น.ส.ศุภรนันทน์ พิมดี ผอ.โรงเรียนโนนหันวันครู (ประถมฯ) เพื่อวางแผนตามโครงการพาน้องข้ามถนนปลอดภัย ช่วงเช้าและเย็น เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนที่เดินทางมาโรงเรียนทำทุกอย่างด้วยสำนึก เพราะเราคือ “ตำรวจทางหลวง” (ขอนแก่น)วัฒนธรรม 3 วินัย วินัยต่อตนเอง ต่อสังคม และวินัยการเงิน.

เยี่ยมชุมชนยั่งยืน
พล.ต.ต.อิทธิพร โพธิ์ทอง รอง ผบช.ภ.2 พร้อมด้วย พล.ต.ต.นันทวุฒิ สุวรรณละออง ผบก.ภ.จว.ฉะเชิงเทรา พ.ต.อ.ชาตรี สุขศิริ รอง ผบก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม โครงการชุมชนยั่งยืน ตามโครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรยุทธศาสตร์ชาติ บ้านต้นนา หมู่ 8 ต.หนองยาว อ.พนมสารคาม โดยมี พ.ต.อ.สมชาย เมืองใย ผกก.สภ.พนมสารคาม และคณะทำงานในพื้นที่ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้การต้อนรับ.

โหมโรงก่อนใคร
กุ๊ดไอเดีย?? ใกล้เทศกาลเข้าพรรษาหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนพึ่งปฏิบัติในฐานะพุทธบริษัท 4 แต่สำหรับ พ.ต.อ.สุมิตร นันสถิตย์ ผกก.สภ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู ทราบดีว่าปัญหาสังคมที่บั่นทอนจิตใจของสังคมในทุกวี่ทุกวัน สักพักมีวิทยุจากศูนย์สั่งการแจ้งว่ามีคนเมาอาละวาททำลายทรัพย์สินและทำร้ายร่างกายคนใกล้ชิด ผู้บังคับบัญชาทราบต้องสั่ง จนท.ตร.ออกระงับเหตุ นี่เรื่องไม่เรื่องมาสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคม ว่าแล้วเพื่อระงับที่ต้นเหตุ วันก่อน ผกก.สภ.ศรีบุญเรือง จับมือกับ สคล.จ.หนองบัวลำภู ผญบ.ทุกหมู่บ้านในตำบลนากอก อ.ศรีบุญเรือง และ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอศรีบุญเรือง ขอความร่วมมือแกมบังคับสำหรับคนที่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำและมีพฤติกรรมจนไม่รู้ว่าตนเองทำอะไรลงไป เข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระชนมพรรษา 70 พรรษา (28 กค.65) เมื่อครบ 3 เดือนแล้วให้ได้หมู่บ้านละ 10 คน จาก 158 หมู่บ้านรวมๆแล้ว จะมีคนที่ปฏิบัติตนเองได้ไม่น้อยกว่า 1,580 คน และจะได้รับการยกย่องชูเกียรติเป็น”คนหัวใจหิน” เข้าท่าโครงการนี้ ทำดีอย่างนี้ พล.ต.ต.กิตติศักดิ์ จำรัสประเสริฐ ผบก.ภ.จว.หนองบัวลำภู และ พ.ต.อ.กริช ปัตลา รอง ผบก.ภ.จว.หนองบัวลำภู ไม่ปรบมือให้ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ให้รู้ไป๋….แถวตรง ชวดๆๆๆ


*****************************

คอลัมน์ : สน.รอตรวจ
โดย : บิ๊กสลีป