ผ่านฉลุย! สำหรับการทดสอบเดินรถไฟดีเซลราง Kiha 183 จำนวน 3 คัน รถไฟญี่ปุ่นมือสองที่ปรับปรุงและทำสีแล้วเสร็จเส้นทางกรุงเทพฯ (โรงงานมักกะสัน)-ศรีราชา จ.ชลบุรี-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาทดสอบประมาณ 2 ชั่วโมง (ชม.) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น ไม่พบปัญหาอุปสรรคใด

นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้นำในการทดสอบครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า ใช้ความเร็วในการทดสอบเดินรถเริ่มตั้งแต่ 30 กิโลเมตร (กม.) ต่อ ชม. จนถึงความเร็วสูงสุดที่ 100 กม.ต่อ ชม. โดยวิศวกร และช่างทั้งส่วนบน และส่วนล่าง ได้ทดสอบวัดค่าต่างๆ ทางวิศวกรรม อาทิ ระบบเบรก ระบบปรับอากาศ และการใช้ปริมาณน้ำมัน

การทดสอบเดินรถไฟดีเซลราง Kiha 183 จำนวน 3 คัน จะมีขึ้นอีกครั้งต้นเดือน ก.ย. นี้เส้นทางใหม่ กรุงเทพฯ-ลพบุรี จากนั้นจะทดสอบพร้อมกันทั้ง 4 คัน แบบเต็มรูปแบบกลางเดือน ก.ย. ขณะนี้คันที่ 4 กลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน รฟท. กำลังเร่งพ่นสี อยู่ที่ศูนย์ซ่อมรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ โรงงานมักกะสัน

หากการทดสอบทั้ง 4 คันไม่มีปัญหาใด คาดว่าจะนำรถไฟดีเซลราง Kiha 183 ทั้ง 4 คัน เปิดเดินรถให้บริการประชาชนได้ประมาณเดือน ก.ย.65 โดยจะให้บริการเป็นขบวนรถท่องเที่ยว ระยะทางไป-กลับไม่เกิน 300 กิโลเมตร (กม.) อาทิ อยุธยา น้ำตก พัทยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และฉะเชิงเทรา จะใช้ความเร็วในการเดินรถประมาณ 95 กม.ต่อ ชม. ต้นปีหน้า (66) รฟท. จะเริ่มปรับปรุงอีก 4 คัน ส่วนที่เหลืออีก 9 คัน จะปรับปรุงในระยะถัดไป

รถไฟ Kiha 183 แบ่งเป็น 4 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ อีก 1 ตู้ เป็นรถสำรอง ใน 1 ขบวนมี 216 ที่นั่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งเครื่องปรับอากาศ เบาะที่นั่งปรับเอนได้ ห้องน้ำระบบปิด เป็นขบวนรถที่ไม่ต้องใช้หัวรถจักร มีเครื่องยนต์ในตัว

ในการปรับปรุง และการทำสีภายนอกตัวรถไฟ Kiha 183 นั้น รฟท. พยายามทำให้สีออกมามีความสวยงามที่สุด ซึ่งโทนสี เน้นสีขาวม่วงเขียวอ่อน และน้ำตาล โดยเป็นสีดั้งเดิม เพื่อคงความเป็นญี่ปุ่น ให้ผู้ที่ชื่นชอบรถไฟญี่ปุ่น ได้สัมผัสกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

ขณะที่ตัวอักษรต่างๆ บนป้ายต่างๆ ที่ชำรุด ได้ลอกแบบจากของเดิม และทำใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังคงใช้ภาษาญี่ปุ่นเดิม กับภาษาอังกฤษเป็นหลัก มีภาษาไทยแทรกบ้างในบางจุดที่สำคัญ อาทิ ภายในห้องน้ำ และจุดฉุกเฉินต่างๆ เป็นต้น รถไฟ Kiha 183 มีอายุการใช้งานมาแล้วประมาณ 30 ปี เมื่อปรับปรุงแล้ว จะให้บริการได้อีกประมาณ 15-20 ปี. เนื่องจากอายุของรถไฟจะใช้งานได้ถึง 50 ปี

ทั้งนี้รูปลักษณ์ด้านหน้าของตัวรถมีลักษณะคล้ายหมู ในกลุ่มเพจคนรักรถไฟต่างๆ จึงตั้งชื่อให้ว่า “ป้าหมู” แต่ก็มีบางคนที่เรียกว่า กันดั้ม” เมื่ออวดโฉมด้วยการทดสอบไปแล้วสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนรักรถไฟเป็นอย่างมาก เพราะมองว่ารถไฟญี่ปุ่นเป็นรถไฟในอุดมคติ จะได้ใกล้ชิดกับรถไฟคันนี้โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงประเทศญี่ปุ่น

ย้อนที่มาของรถไฟดีเซลราง Kiha 183 รฟท. ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเดินรถของประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค.64 จำนวน 17 คัน ถือเป็นการรักษาสัมพันธภาพระหว่าง รฟท. และบริษัทในเครือ JR ที่มีมาอย่างยาวนาน และจะเกิดประโยชน์ต่อ รฟท. ด้วย โดยใช้งบประมาณขนย้ายประมาณ 42.5 ล้านบาท จากท่าเรือมุโระรัง ประเทศญี่ปุ่น จนเกิดกระแสดราม่าในช่วงเวลานั้น

นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน กันยายนนี้แล้ว….ไม่ทิพย์…!!! ได้นั่งรถไฟญี่ปุ๊นญี่ปุ่น…บนเส้นทางท่องเที่ยวประเทศไทย

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์

Photo Credit ขอบคุณ : นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)