“บนเส้นทางชีวิต” เป็นงานเขียนของ ศ.ระพี สาคริก ผู้ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักสถิติ นักปรัชญา นักสังคมวิทยา ฯลฯ ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นซึ่งจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ วศิระ เมื่อเดือนธันวาคม 2549 เป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะยากที่จะหาอ่านได้จากหนังสือทั่วไป เนื้อหาสาระในเล่มมีคุณค่าทั้งในด้านความรู้และความจริงในมิติต่างๆ อย่างครบถ้วน ศ.ระพี สาคริก เป็นนักวิชาการและนักวิจัยที่ทุ่มเทกับการทำงานอย่างจริงจังต่อเนื่องมาตลอดชีวิต ไม่เคยหยุดนิ่งกับการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ มีการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้รู้เท่าทันต่อสภาพการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กอปรกับมีประสบการณ์การทำงานในหลากหลายมิติ จึงเป็นผู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้และความคิดอย่างเป็นระบบที่มีการบูรณาการได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่นแท้ ไม่ว่าจะเป็นการสอนหนังสือ การปาฐกถาหรือการบรรยายในโอกาสต่างๆ รวมถึงการเขียนบทความทางวิชาการเพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษา และบทความทั่วไปเพื่อจุดประกายความคิดแก่สาธารณชน

mde

หนังสือ “บนเส้นทางชีวิต” มีความน่าสนใจยิ่งสำหรับทุกคนที่รักการอ่าน ภายในเล่มประกอบด้วยเนื้อหาสาระ 4 เรื่องหลัก ดังนี้

เรื่องที่ 1 จากธรรมชาติสู่ชีวิต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล จึงขอนำใจความสำคัญบางตอนในเรื่องมาให้ได้ทำความเข้าใจและพิจารณาไตร่ตรอง ดังนี้

“…โลกใบนี้คือชิ้นส่วนเล็กๆ ซึ่งแตกออกจากดวงอาทิตย์ มาอยู่ในสุริยะจักรวาล…”

“…แม้ในบรรดาสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายก็ยังมีการจำแนกออกไปเป็นแร่ธาตุชนิดต่างๆ อาทิ ออกซิเจน ไนโตรเจน ซิลิกอน เหล็ก ฯลฯ…”

“…หากสิ่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบันจะเข้ามาอยู่ในกระบวนการพิจารณาเพื่อเรียนรู้ ควรสนใจ มองให้ถึงที่มาที่ไปของแต่ละสิ่งมากกว่าการมองที่ภาพซึ่งปรากฏอยู่เฉพาะหน้าเท่านั้น…”

“…ความจริงของทุกเรื่อง อยู่ในรากฐานจิตใจมนุษย์เอง หากบุคคลใดดำเนินชีวิตโดยที่รู้จักค้นหาที่มา ซึ่งแท้จริงแล้วอยู่ในใจตนเองอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ประมาท ย่อมถือว่าเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตโดยอย่างมีสติ…”

เรื่องที่ 2 คุณค่าของชีวิตและการเอาชนะความทุกข์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล จึงขอนำใจความสำคัญบางตอนในเรื่องมาให้ได้ทำความเข้าใจและพิจารณาไตร่ตรอง ดังนี้

“….ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบในสังคม ล้วนมีคนเป็นเหตุทั้งนั้น…”

“…การให้ความจริงจากใจตนเองแก่เพื่อนมนุษย์ทุกคนย่อมช่วยให้ตนได้รับความเคารพรักและศรัทธาอย่างเป็นธรรมชาติ….”

“…การสร้างศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญเหนือการใช้อำนาจ หรืออีกนัยหนึ่ง การสร้างศรัทธาควรเป็นพื้นฐานการปฏิบัติ ส่วนการใช้อำนาจน่าจะเป็นสิ่งประคับประคองมากกว่า…”

“…ใครยกย่องสรรเสริญช่างเขา ใครติใครว่าทนเอา ขอให้ใจเรามั่นคงเป็นพอ…”

“…จิตใจคือพื้นฐานกำหนดพฤติกรรมโดยใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือสื่อข้อมูลเพื่อการเรียนรู้…”

“…ต้นข้าวแต่ละต้น หลังจากปักดำแล้ว ย่อมเจริญงอกงามแตกกอ เป็นธรรมชาติ ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากเจริญงอกงามเป็นกอใหญ่ และมีความแข็งแรงสมบูรณ์ จนกระทั่ง ออกดอกออกรวง เมื่อออกรวงซึ่งมีเมล็ดอวบอ้วน ปลายย่อมโน้มลงพื้นดินเสมอ…”

เรื่องที่ 3 คุณธรรมของผู้บริหาร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล จึงขอนำใจความสำคัญบางตอนในเรื่องมาให้ได้ทำความเข้าใจและพิจารณาไตร่ตรอง ดังนี้

“…คนทุกคนในสังคมต่างก็เป็นคนเหมือนตน จึงควรเคารพซึ่งกันและกัน แทนที่จะสำคัญตนเองว่า ตนเป็นผู้ใหญ่เหนือคนอื่น หากยังคิดเช่นนี้ก็คงยากที่จะพัฒนาคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในระดับรองลงมาจนถึงระดับพื้นดินให้พึ่งตนเองได้สำเร็จ ตามที่สังคมพึงปรารถนา…”

“…ชีวิตคนเรา ถ้าไม่คิดโลภโมโทสัน อยากเป็น และอยากได้อะไรต่อมิอะไร ซึ่งอยู่เหนือขอบเขตของตน หากทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ดีที่สุด สิ่งที่พึงประสงค์ของสังคม ย่อมได้รับผลติดตามมาเอง อย่างเป็นธรรมชาติ…”

“…ตนเองควรจะต้องพิจารณาปรับปรุงอยู่เสมอ ตราบใดที่คิดว่า ตนดีแล้ว รู้แล้ว ตราบนั้นก็คงจะมีอันตรายรออยู่เบื้องหน้า…”

“…มีทรัพย์สินเงินทองมากแค่ไหน ถ้าได้มาจากพื้นฐานความโลภ หรือส่วนปรุงแต่งก็ย่อมหมดไปในอนาคต…”

“…การให้ความรู้แก่คนเป็นเรื่องง่าย แต่การให้ความรู้โดยที่สามารถพัฒนาคนให้เป็นผู้รู้เท่าทันผู้อื่นเป็นสิ่งยากยิ่ง…”

“…เงินและความทันสมัยทางวัตถุเข้าที่ไหน สังคมย่อมแตกความสามัคคีขึ้นที่นั่น…”

“…ถ้าต้องการความมั่นคงให้เกิดขึ้นในประเทศชาติ ทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม และการศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เราควรใช้การแก้ปัญหาในระยะยาวเป็นพื้นฐาน โดยมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นส่วนเสริม…”

เรื่องที่ 4 การเดินทางสู่จุดหมายของชีวิต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล จึงขอนำใจความสำคัญบางตอนในเรื่องมาให้ได้ทำความเข้าใจและพิจารณาไตร่ตรอง ดังนี้

“…ถ้าไม่มีอดีตเป็นพื้นฐาน ย่อมไม่มีปัจจุบัน หากไม่มีอดีตที่สานถึงปัจจุบันเป็นพื้นฐาน ย่อมไม่มีอนาคต…”

“…ทุกสิ่งทุกอย่างควรมองเห็น 2 ด้าน อีกทั้งหยั่งรู้ความจริงด้วยว่า ด้านไหนคือพื้นฐานของอีกด้านหนึ่ง…”

“…จงใช้กาลเวลาของชีวิตให้เป็นประโยชน์อยู่ทุกขณะโดยไม่ประมาท…”

“…บนเส้นทางชีวิตต่างก็มีการหมุนวนระหว่างความทุกข์ไปสู่ความสุขเป็นช่วงๆ หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวว่า ความทุกข์เป็นสิ่งช่วยสอนให้เข้าถึงความสุขเป็นวัฏจักร…”

ศ.ระพี สาคริก เป็นปูชนียบุคคลของบ้านเมืองที่ได้รับความเคารพนับถือจากสาธารณชนอย่างกว้างขวาง ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย” จากการที่ได้สร้างองค์ความรู้พัฒนากล้วยไม้ไทยและกล้วยไม้ลูกผสม ทำให้ชาวต่างชาติทั่วโลกรู้จักประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากความวิจิตรงดงามของกล้วยไม้ไทยมีเอกลักษณ์ทางพฤกษศาสตร์อันโดดเด่น และความวิจิตรตระการตาของกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากการพากเพียรศึกษา ค้นคว้าทดลองและวิจัยมาเป็นเวลายาวนาน เมื่อ ศ.ระพี สาคริก ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้แก่เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจทั่วไป โดยมีการฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การเผยแพร่ความรู้ทางทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมและสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 สนามเป้า ตลอดจนการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ที่มีการรวมกลุ่มกัน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย นำรายได้ซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศจากการส่งออกกล้วยไม้ในเวทีการค้าโลกเข้าสู่ประเทศมีมูลค่าหลายพันล้านบาท ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวมีมูลค่าการส่งออกกว่า 10,000 ล้านบาท

ศ.ระพี สาคริก นอกจากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีการศึกษา ค้นคว้าทดลอง และวิจัยมาตลอดชีวิตแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำทางความคิดของสังคมไทย เป็นผู้จุดประกายความคิดให้สังคมไทยให้ตระหนักรู้และตื่นรู้กับการพัฒนาทางด้านจิตใจของคน นอกเหนือจากการมุ่งแต่ให้ความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพเพียงถ่ายเดียว โดยให้ความสำคัญกับคุณค่าของทุกชีวิตที่จะต้องได้รับโอกาสและมีสิทธิเท่าเทียมกัน เพราะเป็นมนุษย์เหมือนกัน

มูลนิธิฯ ได้ก่อตั้งขึ้นโดยดำริของ ศ.ระพี สาคริก ในปี 2548 มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจกรรมให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ การก่อตั้งมูลนิธิฯ ได้รับความร่วมมือร่วมใจและการสนับสนุนของกลุ่มนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายจิตติ รัตนเพียรชัย บริจาคเงิน 200,000 บาท เพื่อเป็นเงินทุนตั้งต้นในบัญชีเงินฝากประจำ ต่อมาบริจาคเงินเพิ่มเติมอีก 500,000 บาทเข้าบัญชีเงินฝากประจำ โดยสามารถนำดอกผลไปใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิฯ ได้ รวมถึงยังมีกลุ่มนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกันบริจาคเงิน 400,000 บาทเศษ เข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของมูลนิธิฯ ฐานะทางการเงินของมูลนิธิฯ ในช่วงเริ่มแรกมีเงินในบัญชีเงินฝากประจำรวม 700,000 บาท และมีเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กว่า 400,000 บาท รวมแล้วมีเงินฝากในธนาคาร 1,100,000 บาทเศษ

น่าเสียดายที่ว่า ในห้วงเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา คณะกรรมการมูลนิธิฯ ไม่สามารถขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ประการสำคัญไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์อันแน่วแน่และปณิธานอันแรงกล้าของ ศ.ระพี สาคริก ที่มีจุดประสงค์เผยแพร่องค์ความรู้และแนวความคิดที่สั่งสมมาเป็นเวลาค่อนศตวรรษให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ทั้งๆที่มีสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ และสื่อดิจิทัลมากมาย แต่ก็ไม่สามารถเผยแพร่ไปสู่สาธารณชนได้ กรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่1-2 หลายคนได้ทยอยถอนตัวจากการเป็นกรรมการมูลนิธิฯ ด้วยความอึดอัดใจและไม่สบายใจกับการทำหน้าที่ของประธานมูลนิธิฯ กรรมการมูลนิธิฯชุดปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกรรมการหน้าใหม่ทั้งสิ้น ส่วนประธานมูลนิธิฯทำหน้าที่นี้มาอย่างต่อเนื่อง 3สมัย เรื่องนี้เป็นสิ่งที่นิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ส่วนใหญ่รู้สึกขัดเคืองใจและไม่พอใจกับสภาพการณ์ของมูลนิธิฯดังที่เป็นอยู่ สาเหตุสำคัญ คือ ประธานมูลนิธิฯไม่มีศักยภาพในการบริหารจัดการ ไม่มีบารมีที่จะทำงานใหญ่กับคนหมู่มากได้ประการสำคัญไม่ใช่นิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีแต่ความมักใหญ่ใฝ่สูง เกศาสตร์ม่ใช่ไม่เคยพิจารณาการทำงานของตนเองและผลงานของมูลนิธิฯ แต่อย่าง

ข้อบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการบริหารกิจการมูลนิธิฯ จะเห็นได้จากรายงานการตรวจสอบบัญชีงบการเงินมูลนิธิฯประจำปี 2564 ผู้ตรวจสอบบัญชีมีข้อสังเกตและข้อแนะนำสำหรับการดำเนินกิจการของมูลนิธิฯ ดังนี้

ข้อสังเกต ได้แก่

1. ปี 2564 มูลนิธิฯ ไม่ดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์สำคัญของมูลนิธิฯ

2.ทุนสะสม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ประกอบด้วย ทุนเริ่มแรก 200,000.00 บาท เงินกองทุนย่อย 863,000.00 บาท ทุนสะสมจากการดำเนินงาน 720,961.87 บาท รวม 342,038.13 บาท

3. ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารต่ำกว่าเงินเฟ้อมาก

ข้อแนะนำ ได้แก่

1. ควรกำหนดกิจกรรมในแผนงาน หรือจัดทำประมาณการรับ-จ่าย เป็นเป้าหมายการปฏิบัติงานประจำปี เสนอต่อที่ประชุมมูลนิธิฯ

2. เนื่องจากทุนสะสมจากการดำเนินงานมียอดติดลบจำนวนสูง ทำให้ทุนสะสมลดลงเกินครึ่งหนึ่ง ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ควรพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ควรขอรับการสนับสนุนการจัดงานจากภายนอกด้วย

3. ควรบริหารเงินทุนด้วยการพิจารณาแหล่งเงินทุนที่มีอัตราสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร เช่น พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น

ในโอกาสสำคัญ 100 ปีชาตกาล ศ.ระพี สาคริก ซึ่งกำลังจะมาถึงในวันที่ 4 ธันวาคม 2565 นี้ จึงใคร่ขอฝากคณะกรรมการมูลนิธิฯทุกคน ได้ตระหนักถึงเจตนารมณ์ปณิธาน และอุดมการณ์ของ ศ.ระพี สาคริก ให้บรรลุผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมายของท่าน เพื่อเป็นการบูชา ศ.ระพี สาคริก ผู้ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลที่ประชาคมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ความเคารพนับถือในคุณความดีของท่านอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม