ท่ามกลางห้วงเวลา 180 วัน ก่อนสภาครบวาระ หรือ “180 วันอันตราย” ที่ส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองเป็นไปอย่างตึงเครียด ภายใต้ความคลุมเครือของกฎเหล็ก วันนี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสมาสนทนา สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะอดีต กกต. เพื่อไขคำตอบ ของทุกคำถามถึงทางรอดทางตันของนักการเมืองที่ต้องเตรียมตัวลงเลือกตั้งในวาระอันใกล้นี้

โดย อดีต กกต. เปิดฉากกล่าวว่า กติกาต่างๆ มีความชัดเจนระดับหนึ่ง ดังนั้นก็เป็นหน้าที่ที่ กกต. จำเป็นจะต้องมีการชี้แจง ให้เกิดความชัดเจนในกรอบกติกา และพร้อมที่จะตอบคำถามจากพรรคการเมือง และจากผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องดังกล่าว ว่าสิ่งใดที่ทำได้สิ่งใดที่ทำไม่ได้ และสิ่งใดที่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ กกต. ควรจะต้องสื่อสารกับทุกฝ่าย

ส่วนเรื่องใดก็ตามที่เป็นเรื่องปรากฏต่อสาธารณะและเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชน กกต. ควรตั้งคณะทำงานขึ้นมาสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง และนำเสนอผลการพิจารณาให้ประชาชนได้รับทราบ ยกตัวอย่าง การขึ้นป้ายต้อนรับที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็เป็นสิ่งซึ่งคนตั้งข้อสงสัยและมีคำถามมากมาย ว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ ดังนั้น กกต. เองจะต้องแสดงถึงความเอาจริงเอาจังในการที่จะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่การเที่ยวมาปล่อยข่าวว่าแหล่งข่าวจาก กกต. ว่าเรื่องนี้ไม่เข้าข่าย ซึ่งการชี้แจงแบบนี้ถือว่าไม่โอเค เพราะเหมือนกับว่าพยายามจะให้ข่าวดังกล่าวลดกระแสลง ทั้งที่ตัวเองไม่ทำอะไร ดังนั้นกรณีแบบนี้ ผมถือว่าเป็นการไม่ทำหน้าที่อย่างถูกต้องและสมควรของ กกต.

ทั้งนี้หาก กกต. ไม่สามารถทำตามกติกาที่วางไว้ได้ ก็ถือว่า กกต. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นความผิดของ กกต. เพราะ กกต. มีหน้าที่รักษากฎหมาย และเมื่อมีกฎหมายแล้วทำไม่ได้ หรือไม่ทำ หรือทำโดยการเลือกปฏิบัติถือว่าเป็นความผิดที่ชัดเจน และประชาชนรวมทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็มีสิทธิที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ กกต. ด้วยข้อหาตามความผิดในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ในขณะเดียวกันหากพบว่า มีความผิดในเชิงจริยธรรม คือ การไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เต็มกำลังความสามารถ ก็สามารถไปร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อส่งศาลฎีกาพิจารณาถอดถอน กกต. ก็ยังได้ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันจับตาปรากฏการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้เราไม่ได้มุ่งเอาผิดใคร แต่เราอยากจะให้ทุกอย่างเป็นกติกาที่เที่ยงธรรม

กกต.สามารถอุดช่องโหว่ที่อาจจะสร้างความคลางแคลงใจเรื่องความเที่ยงธรรมได้หรือไม่

ทำได้โดยกติกาคือต้องพูดให้ชัด เตือนให้ชัดเจนว่าทำได้หรือทำไม่ได้ ไม่ใช่รองนายกฯ ต้องออกมาเป็นคนพูด แล้วจะมี กกต. ไว้ทำไม ในขณะเดียวกันหากเขาไม่ทำ หรือกรณีที่ตั้งใจฝ่าฝืนหรือเลี่ยงไปทางใดทางหนึ่ง เพื่อให้เห็นคล้ายๆ ว่าไม่ใช่ แต่ความจริงมันใช่ กกต. ก็ต้องฟัน ต้องใช้อำนาจของตัวเองในการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ กกต. สามารถทำได้ ถ้าทำสัก 1-2 กรณี เชื่อว่าทุกอย่างเรียบร้อยหมด แต่ถ้าท่านไม่กล้าทำ คนก็จะหาทางเลี่ยง หาทางขึ้นป้ายในลักษณะที่ไม่ใช่การหาเสียงโดยตรง เช่น ขึ้นป้ายยินดีต้อนรับโดยมีรูปผู้สมัครรับเลือกตั้งด้านล่าง คำถามคือ หากผมเป็นฝ่ายค้านแล้วรัฐมนตรีมาตรวจเยี่ยมในพื้นที่ของผม ก็สามารถขึ้นป้ายต้อนรับโดยเอารูปผู้สมัครในพื้นที่นั้นๆ ของฝ่ายค้านรวมอยู่ในป้ายได้

“หาก กกต. มองว่าการขึ้นป้ายต้อนรับไม่ใช่ป้ายหาเสียง ต่อไปก็คงขึ้นป้ายทุกเทศกาลได้ อาทิ ป้ายเชิญชวนกินเจแล้วมีรูปผู้สมัคร ส.ส. ครบทุกเขตอยู่ด้านล่าง หรือเชิญชวนร่วมประเพณีลอยกระทง แล้วมีรูปผู้สมัครอยู่ด้านล่าง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องของสามัญสำนึกว่า ในฝั่งของคนที่จะเป็นผู้สมัครก็ต้องเคารพกติกา ขณะเดียวกันฝ่าย กกต. ก็อย่าหรี่ตา ไม่ใช่พอเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำบอกไม่ผิด เป็นเรื่องงานประเพณีเป็นป้ายต้อนรับ ไม่ใช่ป้ายหาเสียง หากเล่นกันแบบนี้ทั้งประเทศ กกต. รับได้ไหม ประชาชนรับได้หรือเปล่า”

แนวโน้มไทม์ไลน์ยุบสภาจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหน

ถ้ามองในเชิงเทคนิคแล้ว หากจะอำนวยความสะดวก ให้เกิดการย้ายพรรคของ ส.ส. ชุดปัจจุบัน โดยต้องให้เขาลาออก การยุบสภาจะต้องเกิดขึ้นภายในเดือน ม.ค.2566 เพื่อให้ ส.ส. สามารถย้ายพรรคและสังกัดพรรคใหม่ได้ทัน ในกรอบเวลา 90 วันก่อนการเลือกตั้ง หากยังกำหนดวันเลือกตั้งคือวันที่ 7 พ.ค. ซึ่งก็คือ 45 วัน หลังจากวันครบกำหนด และหากนับย้อนขึ้นมาอีก 45 วัน ก่อนวันที่ 24 มี.ค.2566 ก็จะอยู่ประมาณวันที่ 8 ก.พ.2566 ซึ่งหมายความว่า พรรคการเมืองทุกพรรค ส.ส. ทุกคนที่ประสงค์จะมีการย้ายพรรคในกรณีที่ไม่มีการยุบสภา ก็จะต้องทยอยลาออกกันประมาณสิ้นเดือน ม.ค. เพื่อให้สามารถสังกัดพรรคใหม่ได้ไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้นในเชิงเทคนิคการยุบสภาจะต้องเกิดขึ้นประมาณไม่เกินปลายเดือน ม.ค.

@ ในบริบทปัจจุบัน มีช่องทางที่จะไม่เกิดการเลือกตั้งหรือไม่

หากพูดถึงการ ปฏิวัติรัฐประหาร เกิดขึ้น ก็ต้องตั้งคำถามว่าจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์อะไร มีสาเหตุอะไร และประชาชนจะรับได้หรือไม่ เพราะการ รัฐประหาร คือ การนำประเทศถอยหลังไปสู่การปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งสังคมโลกไม่ยอมรับ และไม่ได้ทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะทุกครั้งเราก็จะเห็นการ รัฐประหาร ที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแต่เอื้อประโยชน์คณะผู้ทำ รัฐประหาร ทั้งสิ้น ไม่เคยเป็นครั้งใดที่จะทำประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม และยังนำไปสู่การสืบทอดอำนาจ หาวิธีการในการเขียนกฎเกณฑ์กติกาเอารัดเอาเปรียบต่อคู่แข่งขันทางการเมือง ดังนั้นผมคิดว่าโดยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน มันไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดๆ ที่จะมาอ้างในการยึดอำนาจไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่ายใดก็แล้วแต่

“ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ เอง ถ้ายึดอำนาจก็เป็นเหมือนการปฏิวัติตัวเอง เพื่อให้อยู่ในอำนาจต่อไป ซึ่งประชาชนก็คงรับไม่ได้ และหากเป็นฝ่ายอื่นที่ไม่ใช่ 3 ป. ทำปฏิวัติรัฐประหาร มันก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ว่ามีความจำเป็นอะไรอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นอีกไม่นานต่อจากนี้ไป ถ้าหากประชาชนต้องการเปลี่ยนผู้ปกครองประเทศ เขาก็มีเครื่องมือที่จะใช้อยู่แล้ว ดังนั้นการอ้างประชาชน หรืออ้างว่ารัฐบาลก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง จึงจำเป็นต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารก็เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น และไม่น่าจะได้รับการยอมรับจากประชาชน”

@ หากกฎหมายลูก 2 ฉบับขัดรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นสุญญากาศด้านกฎหมาย จนทำให้ไม่มีการเลือกตั้งได้หรือไม่

ไม่เป็น โดย พ.ร.ป.พรคการเมืองแทบจะไม่มีความหมาย เพราะถึงไม่แก้ของเดิมก็ใช้ได้ เพียงแต่สร้างความยากลำบากให้แก่พรรคการเมืองในการทำไพรมารีโหวตเท่านั้นเอง และพรรคการเมืองก็เคยทำอยู่แล้วก็ทำต่อแบบที่เคยทำ ส่วน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.นั้น ในกรณีที่ไม่ผ่าน ครม. ก็สามารถออกพระราชกำหนดออกมาตามที่ ครม. เห็นสมควร ซึ่งก็ทำได้ไม่น่ามีปัญหาอะไร.