โดยไฮไลต์ของการชุมนุม คือการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเมื่อช่วงเย็นวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อยื่นใบลาออกให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้พิจารณาลาออกจากตำแหน่งภายใน 3 วัน แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยังเฉยอยู่ ม็อบ “ราษฎร 63” ก็จะมาหาที่ทำเนียบรัฐบาล

ทีมงาน “1/4 Special Report” ที่เกาะติดม็อบราษฎร 63 มาโดยตลอด พบว่ามีคนรุ่นใหม่ติดตามเคลื่อนไหวผ่านช่องทางออนไลน์เพจ “เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH” และ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” วันละกว่า 2 แสนคน

โดยหลังจากมาเพื่อยื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกภายใน 3 วันแล้ว (24 ต.ค.63) ในเพจ “เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH” ยังคงเน้นย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกไป! 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ปฏิรูปสถาบันฯ หากรัฐบาลไม่มีคำตอบใน 3 วัน ราษฎรจะกลับมาใหม่ พร้อมข้อเรียกร้องที่สูงกว่าเดิม

“ปล่อยเพื่อนเรา-ภาษีกู” ป้ายยอดฮิต

ส่วนบรรยากาศในม็อบราษฎร 63  ไม่ว่าจะเป็นที่สี่แยกราชประสงค์และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มี 3 ประเด็นหลัก ๆ ที่นักปราศรัยสลับกันขึ้นพูดได้ตลอดเวลา คือ 1.การโจมตีบทบาทและการทำงานที่ล้มเหลวของ พล.อ.ประยุทธ์ 2.ปัญหารัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยว ปัญหาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ซึ่งเป็นรอยด่างในรัฐธรรมนูญ และ 3.โจมตีเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้นักเรียน นักศึกษาได้รับผลกระทบไปด้วย

นอกจากนี้ทุกสถานที่ที่มีการชุมนุม มักจะมีป้ายข้อความยอดนิยม เช่น “ภาษีกู” เพื่อเป็นเสียงสะท้อนไปยังรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ใช้เงินภาษี ต้องใช้เงินภาษีอย่างคุ้มค่าและจำเป็น ต้องนึกถึงประชาชนผู้เสียภาษีบ้าง กับป้ายข้อความว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีตั้งแต่เช้ามืดวันที่ 15 ต.ค.63 หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีภัยร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพฯ ตอนเวลา 04.00 น.

3 ข้อเรียกร้องจากนักวิชาการ

ในส่วนของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องแบบคู่ขนานไปกับนักเรียน นักศึกษาด้วย เช่น รศ.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อ่านข้อเรียกร้องของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ว่าการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษารวมถึงประชาชนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาหลายด้านที่ซับซ้อนและโยงใยกันอย่างแน่นหนา จึงขอแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้

  1. ขอประณามการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนบริเวณสี่แยกปทุมวันคืนวันที่ 16 ต.ค.63 เพราะเป็นการจัดการกับการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามหลักการและขั้นตอนที่เป็นสากล และเป็นการใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วนหรือเกินกว่าเหตุ
  2. รัฐบาลต้องยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการขจัดผู้เห็นต่าง ต้องยกเลิกการตั้งข้อหาและต้องปล่อยตัวผู้ชุมนุมทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะผู้ชุมนุมได้ใช้สิทธิตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงสัตยาบัน ต้องยกเลิกการใช้กฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เอาผิดผู้แสดงความเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
  3. รัฐบาลต้องรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมไปพิจารณาอย่างจริงจัง ทั้งการให้นายกรัฐมนตรีลาออก การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการปฏิรูปสถาบันให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะที่มาจากตัวแทนฝ่ายต่าง ๆ

พลังกลุ่มหลากหลายทางเพศ

ทางด้าน “เคท ครั้งพิบูลย์” อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ มองว่าการชุมนุมครั้งนี้ทำให้เห็นว่า คนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือคนในหลายรูปแบบออกมาชุมนุมมากขึ้น เพราะหลายประเด็นเป็นเรื่องที่คนในสังคมไม่ค่อยพูดถึง ดังนั้นคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ก่อนหน้านั้นไม่มีสิทธิมีเสียง จึงออกมาใช้พื้นที่นี้ จนกลายมาเป็นผู้นำในหลายพื้นที่

การชุมนุมครั้งนี้ข้อเรียกร้องไม่ใช่มีแค่เรื่องการเมืองอย่างหลายม็อบที่ผ่านมา แต่มีในเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิเด็กในการศึกษา หรือสิทธิในความหลากหลายทางเพศ เราจะเห็นว่ามีการพูดเรื่องดังกล่าวในม็อบครั้งนี้มากขึ้น เพราะประเด็นที่คุยกันมาก คือ การสมรสอย่างเท่าเทียม เพราะทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยตอบสนอง สิ่งนี้จึงถูกทำให้รอมานาน

สำหรับรัฐบาลนั้น การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการสลายม็อบไม่ควรเกิดขึ้น เพราะนักศึกษามาร่วมชุมนุม และนั่งฟังการพูดในสิ่งที่พวกเขาแต่ละคนต้องการอย่างสันติ ถึงแม้มีการปิดกั้นไม่ให้มีม็อบ แต่พวกเขาก็จะไปพูดคุยกันในโรงเรียน หรือตามโซเชียลต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น แม้รัฐจะพยายามปิดกั้นสื่อต่าง ๆ 

จึงอยากให้กลุ่มคนที่เห็นต่าง มองเด็กเหล่านี้อย่างรับฟังมากขึ้น เพราะสิ่งที่เขาพูดคือการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม การรับฟังข้อเสนอ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะในสภาพความเป็นจริง สังคมเรายังมีความเหลื่อมล้ำ เด็กหลายคนยังเข้าไม่ถึงการศึกษา เรายังมีการเลือกปฏิบัติ สิ่งนี้จึงต้องทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นให้ได้

ดังนั้น ในวิกฤติทางการเมืองหนนี้ ในหลายประเด็นมีความแตกต่างจากครั้งก่อน ๆ ซึ่งการแก้ปัญหาแบบเดิม ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ผู้ชุมนุมอย่างที่ผ่านมาเช่นกัน      

สโมสรนิสิต-นักศึกษาเขย่า“ประยุทธ์”

ทั้งหลายทั้งปวงข้างต้น ยังรวมไปถึงท่าทีขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์-ศรีนครินทรวิโรฒ-เกษตรศาสตร์-มหิดล ซึ่งเป็นตัวแทนองค์กรนิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง 4 ข้อต่อรัฐบาล คือ 1. รัฐต้องยุติการแทรกแซง คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุมโดยสงบหรือผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล  2.รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพฯ

3.รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประเทศและประชาชน โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง  4.รัฐสภาต้องรับพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยภาคประชาชน

ดังนั้นจึงต้องคอยดูกันว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลาออกภายใน 3 วัน จะมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนี้ แล้วม็อบราษฎร 63 จะกลับมาใหม่ พร้อมข้อเรียกร้องที่สูงกว่าเดิม…คืออะไร?