ตั้งแต่เด็ก ๆ จำได้ว่า…จะชอบจำเสียงพูดของตัวการ์ตูนที่เราดู แล้วก็ใช้จินตนาการของตัวเองเล่นกับตุ๊กตาบ้าง กับตะเกียบหรือช้อนบ้าง“ เป็น “จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ” ในวัยเด็กของสาวสวยหน้าตาน่ารักคนนี้ ที่เธอได้บอกเล่าผ่าน “ทีมวิถีชีวิต”  ถึงเรื่องราวก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ “วงการนักพากย์” ที่มีคนติดตามหลักแสน จนได้รับฉายา “นักพากย์ 100 เสียง” ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จัก ย้อนเส้นทางชีวิตและเส้นทางก่อนเข้าสู่วงการนี้ของเธอ เธอคนนี้… ’แยม-วรรญา ไชยโย“

“แยม-วรรญา” สาวสวยหน้าตาน่ารัก เจ้าของฉายา “พี่แยม 100 เสียง” ปัจจุบันเธอมีอาชีพเป็นนักพากย์อิสระ และเจ้าของแอคเคานท์ TikTok ในชื่อ @wanyayam ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งเธอบอกว่า ส่วนใหญ่คนจะจำเสียงพากย์ของเธอได้จาก “คลิปพากย์ 100 เสียง” และ “คลิปเพลงวอเอ๊ะ เวอร์ชันชินจัง” ที่กลายเป็นวิดีโอไวรอลสุดโด่งดังในโซเชียล จนทำให้เธอเป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ แยม เล่าว่า เธอเป็นคน จ.พิจิตร และเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยชีวิตวัยเด็กของเธอก็เติบโตมาเหมือนกับเด็ก ๆ คนอื่น ๆ ทั่วไป ที่ชอบดูการ์ตูน ซึ่งเธอเองก็ไม่คิดมาก่อนว่าความชอบในวัยเด็กที่ชอบเลียนเสียงตัวการ์ตูนที่ดูนั้นจะพาชีวิตเธอโลดแล่นมาไกลลิ่วขนาดนี้ในเส้นทางสายนักพากย์เสียง

แยม บอกว่า ด้วยความที่ตอนเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องไปทำงานทั้งคู่ ทำให้เธอและคุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกันเท่าไหร่ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็จะคอยซื้อซีดีการ์ตูนหรือหนังจีนส่งมาให้เธอเสมอ ซึ่งเธอก็ชอบการ์ตูนมากจนสามารถจดจำบทพูดบทสนทนาของตัวการ์ตูนที่ดูได้ว่าพูดอะไรตอนไหน แล้วเธอก็ยังชอบนำเอาประโยคนั้นมาจินตนาการ ด้วยการเลียนแบบเสียงตัวการ์ตูนเหล่านั้น ซึ่งความสามารถด้านนี้ของเธอนั้นน่าจะเริ่มฉายออกมาช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย โดยช่วงเรียนชั้นมัธยมความชอบตรงนี้หายไปพักหนึ่ง เพราะต้องเรียนค่อนข้างหนัก แต่พอเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ด้วยการเรียนทำให้ต้องทำโปรเจคท์ส่งอาจารย์ในวิชาการพูดเพื่อการสื่อสาร เธอจึงเลือกทำเกี่ยวกับการพากย์เสียง ซึ่งทำให้ความทรงจำและความสนุกในวัยเด็กของเธอย้อนคืนกลับมาอีกครั้ง โดยเธอเลือกทำโปรเจคท์นิทานเสียงให้เด็ก ๆ ที่พิการทางสายตาฟัง โดยนำนิทานมาอัดเสียง แล้วนำไปเปิดให้เด็กฟัง ปรากฏเด็กชอบมาก อีกทั้งด้วยความที่นิทานที่เล่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปร่างรูปทรง ก็เลยนำไปต่อยอดการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ให้กับเด็กกลุ่มนี้ได้

’ตอนที่เห็นเด็ก ๆ ยิ้มเมื่อได้ฟังนิทานที่เราเล่า ทำให้แยมเห็นแสงสว่างของตัวเองด้วยว่า…เฮ้ย!!! ทางนี้แหละมันใช่ทางที่เราชอบเลย หลังจากนั้นก็ได้ทราบว่ามีโครงการประกวดการเล่านิทาน ด้วยความที่เรามีผลงานอยู่แล้วก็เลยลองส่งไปดู ปรากฏว่าเข้ารอบ และมีผู้ใหญ่ของบริษัทใหญ่เกิดมาเห็นผลงานนี้เข้า เขาก็ติดต่อมาเพื่อเสนองานให้เราทำ ซึ่งทำให้แยมได้ทำงานเป็นผู้ผลิตนิทานเต็มตัว“ เป็นเส้นทางของสาวนักพากย์ 100 เสียงคนนี้

แต่ชีวิตเธอก็มีจุดสะดุดอยู่ช่วงหนึ่ง หลังจากสูญเสียคุณพ่อและคุณแม่ในเวลาไล่เลี่ยกัน จนทำให้เธอรู้สึกไม่มั่นคงกับชีวิต จนมาตอนหลังเธอก็พยายามที่จะกลับมายืนใหม่ให้ได้ ซึ่งช่วงโควิด-19 ระลอกแรกนั้น ขณะนั้นคลิปเจน-นุ่น-โบว์ กำลังดังกระหึ่ม และเป็นกระแสในโซเชียลมาก จนมีคนนำมา Cover เยอะมาก ซึ่งเธอคิดว่า…ถ้าจะให้เธอไปเต้นแบบนั้นก็คงไม่ไหว เธอจึงลองทำคลิปพากย์เสียงลงในแพลตฟอร์ม TikTok ปรากฏว่าคลิปนั้นได้กลายเป็นกระแส และมีการตอบรับกลับมาดีเกินคาด จนทำให้ชื่อของเธอแจ้งเกิดในวงการนักพากย์เสียง โดยแยมเล่าให้ฟังถึงคลิปสร้างชื่อนี้ว่า เธอได้เลือกฉากในการ์ตูนที่มีตัวการ์ตูนหลายตัว เพื่อนำมาดัดเสียงและให้เสียง ซึ่งพอคลิปดังกล่าวถูกปล่อยออกไป ปรากฏมีแฟนคลับที่ติดตามเข้ามาขอให้เธอพากย์เสียงเป็นตัวละครตัวนั้นตัวนี้เรื่อย ๆ จนมีแฟนคลับหลายคนให้นิยามเธอว่าเป็น “ตู้พากย์เสียง” เพราะขออะไรมา เธอจัดได้หมด

’อีกอย่าง ที่คนสนุกไปกับเรา เพราะเวลาพากย์จะไม่ห่วงสวยเลย บางทีหน้าตาก็จะแปลกพิลึกด้วย ซึ่งพอเป็นคลิปวิดีโอ คนดูเขาก็เห็นหน้าตาเราตอนพากย์เสียง เขาเห็นหน้าเราพิลึกก็รู้สึกขำ ทำให้เขาหัวเราะได้“ 

แบ๊ว ๆ เท่ ๆ เก๋ ๆ หวาน ๆ

สาวแยมคนนี้เล่าอีกว่า สำหรับการ์ตูนที่เธอนิยมนำมาอัดลงสื่อโซเชียลแพลตฟอร์มต่าง ๆ นั้น จะเป็นการ์ตูนยุคเก่า ๆ เช่น การ์ตูนยุคที่ฉายทางช่องโมเดิร์นไนน์ และดิสนีย์คลับ ซึ่งหลายคนเติบโตมากับการ์ตูนในยุคนี้ ก็เลยทำให้คนวัยเก่า ๆ หวนคิดถึงความสุขในอดีต แต่นอกจากคนรุ่นเก่า ๆ แล้ว ก็ยังมีแฟนคลับที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นไม่ใช่น้อยเช่นกัน โดยการที่เธอเริ่มเป็น Content creator นั้น แยมเล่าว่า ทำมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระลอกแรก โดยทำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันก็นานเกือบ 3 ปีแล้ว ซึ่งตอนนี้มีคนติดตามเธอราว ๆ 2.5 ล้านคน และทำให้มีงานติดต่อเข้ามาเยอะมาก จนเรียกว่าการพากย์เปลี่ยนชีวิตเธอไปเลย ยิ่งพอทำเป็นคลิปวิดีโอ ทำให้ผู้ชมเห็นหน้าเห็นตาของเธอ ก็ยิ่งทำให้มีงานอื่น ๆ นอกเหนือจากงานพากย์เข้ามาด้วย ทั้งงานรีวิว งานอีเวนต์

สำหรับ “เทคนิคการพากย์เสียง” สาวสวยคนเดิมเผยว่า จะมีเทคนิคส่วนตัวที่เธอคิดค้นขึ้นมาเอง ซึ่งหลัก ๆ เธอจะใช้ 5 ข้อเพื่อพิจารณา ได้แก่ 1.เพศ 2.อายุ 3.คาแรกเตอร์ 4.ขนาดตัวการ์ตูน 5.ลักษณะเฉพาะของการ์ตูนตัวนั้น เพื่อที่จะกำหนดการให้เสียงให้เหมาะสมกับตัวการ์ตูนหรือตัวละครที่เลือก หรือบางทีเธอก็ดัดแปลงเสียงขึ้นมาใหม่ เพราะมีหลายครั้งมาก ๆ ที่แฟนคลับของเธอขอให้เธอช่วย พากย์เป็น “สิ่งของ” ที่ไม่ใช่ตัวการ์ตูนที่มี อาทิ บางคนขอให้พากย์เสียงเห็ดงอก บางคนขอให้พากย์เสียงโต๊ะ (หัวเราะ) ทำให้เธอต้องไปคิดจินตนาการเอาเองว่า ควรที่จะเป็นเสียงแบบไหน อย่างนี้เป็นต้น 

ลุคพิลึก ๆ ของสาวนักพากย์ 100 เสียง

’แปลก แต่ก็สนุกดี แถมทำให้เราต้องคิดจินตนาการ ต้องพัฒนาเทคนิคใหม่ ๆ อยู่ตลอด เพราะโจทย์แปลก ๆ แบบนี้มีเข้ามาเรื่อย ๆ“ แยมบอกกับเราเรื่องนี้ด้วยอารมณ์ขำ ๆ พร้อมกับเล่าต่อไปว่า เธอคิดว่าชีวิตเธอเดินมาถูกเส้นทางแล้ว ที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ซึ่งในแต่ละวันเธอจะเข้าไปดูคอมเมนต์ว่า วันนี้ใครขอเสียงอะไรมาบ้าง เพื่อนำกลับไปทำการบ้าน ซึ่งล่าสุดนี้ นอกจากการพากย์การ์ตูนแล้ว ยังมีคนติดต่อเธอให้ไป พากย์เสียงการ์ตูนในการแข่งขันเรือ ด้วย

’อันนี้เป็นศาสตร์ใหม่สำหรับเราเลย เพราะพากย์แข่งเรือก็แทบจะไม่ต้องหายใจอยู่แล้ว แต่นี่ต้องทำเป็นเสียงตัวการ์ตูนด้วย แต่หลังคลิปนี้ออกไปในเฟซบุ๊ก มีคนดูเกือบ 2 แสนวิว จนเราตกใจที่มีคนดูคลิปนี้เยอะมาก“

สำหรับ “ไอดอลในการพากย์” ของเธอนั้น แยม บอกว่า คือ “น้าตุ๊ก-อรุณี นันทิวาส” ที่พากย์เสียงของตัวการ์ตูนอย่าง “โคนัน” และ “วันพีซ” ซึ่งเธอพยายามฝึกฝนตัวเองเพื่อให้เก่งและใกล้เคียงกับไอดอลของเธอ โดยในมุมมองของแยมนั้น เธอคิดว่า “คุณสมบัตินักพากย์ที่ดี” คือ 1.ต้องมีความมั่นใจ เพราะเวลาพากย์เสียงจะไม่ใช่ตัวเอง แต่ต้องสวมบทเป็นตัวละครนั้น ดังนั้นนักพากย์จะต้องมีความมั่นใจก่อนถึงจะเป็นตัวละครนั้นได้  2.ต้องมีจินตนาการ เพราะเวลาพากย์ต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครนั้นให้เหมือนหรือใกล้เคียงที่สุด และ 3.ต้องพยายามเพิ่มชั่วโมงบิน ด้วยการฝึกฝนและหาประสบการณ์อย่างสม่ำเสมอ…

เป็นวิทยากรให้ความรู้การพากย์

ด้วยความที่ ’แยม-วรรญา ไชยโย“ ฉายา “นักพากย์ 100 เสียง” เคยเป็น “คนเบื้องหลัง” มาก่อน เธอจึงแนะนำถึงน้อง ๆ ที่อยากเข้าสู่ “เส้นทางนักพากย์” ว่า “ต้องรู้จักพลิกแพลง-ต้องรู้จักต่อยอด” คือสิ่งที่ต้องมีในการเป็นนักพากย์ยุคใหม่

’แยมเคยทำงานงานเบื้องหลังมาก่อน ทำให้แยมคิดว่าการพากย์ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่เบื้องหลังเท่านั้น แต่พัฒนาต่อยอดไปสู่เรื่องอื่น ๆ ได้มากมาย อย่างคลิปก่อนหน้านี้ แยมเอาการพากย์การ์ตูนชินจังไปผสมกับเพลงวอเอ๊ะ ๆ จนคลิปนี้กลายเป็นไวรอล จนแยมเองก็ยังตกใจที่กระแสตอบรับมันดีมากแบบนี้ ซึ่งเรื่องนี้ช่วยยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นงานนักพากย์ หรืองานอะไรก็ตาม เราสามารถจะไปต่อได้อีกไกลถ้าเรารู้ลึกรู้จริง และทุ่มเทพัฒนาตัวเอง…

ไม่ให้หยุดนิ่งอยู่กับที่“.

‘ฝันเป็นครู’ ให้หนู ๆ น้อง ๆ

สำหรับ “ความฝัน” ของ ’แยม-วรรญา ไชยโย“ นั้น เธอบอกว่า นอกจากต้องการจะก้าวไปให้สูงที่สุดในอาชีพนักพากย์ และต้องการถ่ายทอดเทคนิคกับองค์ความรู้ด้านนี้ให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไปให้ได้มากที่สุดเพื่อผลิตบุคลากรด้านนี้ให้กับวงการนักพากย์ของไทยแล้ว เธอยัง “ฝันอยากจะเป็นคุณครูสอนเด็ก” ด้วย ถึงแม้เธอจะบอกแบบติดตลกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า คาแรกเตอร์ของเธอนั้นไปไกลกว่าจะเป็นคุณครูได้แล้วก็ตาม แต่เธอก็อยากจะลองทำอาชีพนี้ อย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อจุดประกายให้กับเด็ก ๆ ให้เกิดแรงบันดาลใจในอาชีพนักพากย์นี้ เพื่อที่จะบอกว่า ’นักพากย์สามารถทำเป็นอาชีพได้ และเลี้ยงตัวเองได้ ถ้ามุ่งมั่นทุ่มเท“ ซึ่งตอนนี้ที่เธอทำได้และได้ทำเป็นประจำคือ การเดินสายเป็นวิทยากรรับเชิญแนะนำเทคนิคการพากย์ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ส่วนความฝันในอนาคตนั้น แยมบอกว่า ’ฝันอยากจะเปิดโรงเรียนสอนการพากย์เสียง“.